วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2554

วัดสวนดอก

ที่ตั้งและอาณาเขต
วัดสวนดอกตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ เลขที่ 139 ถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากประตูสวนดอกไปทางทิศตะวันตก 1 กิโลเมตร กินเนื้อที่ 35 ไร่ 2 งาน 44 ตารางวา ทิศเหนือยาว 183 เมตร ทิศใต้ยาว 193 เมตร ทิศตะวันออกยาว 176 เมตร และทิศตะวันตกยาว 176 เมตร

ประวัติ

วัดสวนดอกในอดีตนั้นป็นสวนดอกไม้ (ต้นพยอม) ของเจ้านายฝ่ายเหนือใน ราชวงศ์เม็งราย โดยในปี พ.ศ. 1914 (ศักราชนี้ถือตามหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ของพระรัตนปัญญาเกตุ) พระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่ง ราชวงศ์เม็งราย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็น "พระอารามหลวง" เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของ "พระมหาเถระสุมน" ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ในแผ่นดินล้านนา และสร้างองค์พระเจดีย์เพื่อประดิษฐาน "พระบรมสารีริกธาตุ" 1 ใน 2 องค์ ที่ "พระมหาเถระสุมน" อัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1912 (องค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์ ใน วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร)

ในสมัย ราชวงศ์เม็งราย วัดสวนดอก มีความเจริญรุ่งเรืองมาก แต่หลังจากสิ้น ราชวงศ์เม็งราย บ้านเมืองตกอยู่ในอำนาจพม่า ทั้งเกิดจลาจลวุ่นวาย วัดนี้จึงกลายสภาพเป็นวัดร้างไป วัดสวนดอก ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่อีกครั้ง ในรัชสมัย พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ แห่ง ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน) และได้รับการทำนุบำรุงจาก เจ้านายฝ่ายเหนือ และประชาชนเชียงใหม่มาโดยตลอด

วัดสวนดอก ต่อได้รับการบูรณะครั้งสำคัญ 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2540 พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญรวบรวมพระอัฐิ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และ พระประยูรญาติ มาประดิษฐานรวมกัน และต่อมาอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2475 เป็นการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระวิหารโดย ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา

ปูชนียสถาน-วัตถุ

พระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกา
พระเจดีย์วัดสวนดอก ได้รับการบูรณะใหม่และหุ้มแผ่นทองจังโก

พระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1914 ในรัชกาลของพระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่ง ราชวงศ์เม็งราย โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "พระอารามหลวง" โดยโปรดเกล้าให้สร้าง "พระเจดีย์ทรงลังกา" ขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระมหาเถระสุมนได้อัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1912 ซึ่งแต่เดิมมีเจดีย์แบบสุโขทัย (ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์) อยู่ทางทิศตะวันตกขององค์พระเจดีย์ใหญ่ แต่ได้ปรักหักพังลง พระเจดีย์องค์ใหญ่สูง 24 วา ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478

พระเจ้าเก้าตื้อ
พระเจ้าเก้าตื้อ เป็นพระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่ สร้างด้วยโลหะหนัก 9 โกฏิตำลึง ("ตื้อ" เป็นคำในภาษาไทยเหนือ แปลว่า หนักพันชั่ง) พระญาเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 13 แห่ง ราชวงศ์เม็งราย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2047 "พระเจ้าเก้าตื้อ" เป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสนฝีมือช่างล้านนาและสุโขทัย หน้าตักกว้าง 8 ศอก หรือ 3 เมตร สูง 4.70 เมตร เพื่อเป็นพระองค์ประธานใน วัดพระสิงห์ แต่เนื่องมีน้ำหนักมากไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ จึงได้ถวายเรือนหลวงของพระองค์เป็นพระวิหาร พระราชทานชื่อว่า "วัดเก้าตื้อ" แทน ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัย ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ในปี พ.ศ. 2475 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478

พระพุทธปฏิมาค่าคิง

พระพุทธปฏิมาค่าคิง (เท่าพระวรกาย) เป็นพระประธานในพระวิหารหลวง สร้างในสมัยพระเจ้ากือนา พ.ศ. 1916 หล่อด้วยทองสำริด ขนาดเท่าพระวรกายของพระเจ้ากือนา หน้าตักกว้างสองเมตร สูงสองเมตรครึ่ง เรียกชื่อตามภาษาถิ่นล้านนาว่า “พระเจ้าค่าคิง”

กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ
กู่บรรจุพระอัฐิพระราชชายา เจ้าดารารัศมี


กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2450 โดยพระดำริใน พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านายฝ่ายเหนือใน ราชตระกูล ณ เชียงใหม่ ซึ่งทรงเห็นว่าทำเลที่ตั้งของวัดสวนดอกกว้างขวาง จึงโปรดให้อัญเชิญรวบรวมพระอัฐิของ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และ พระประยูรญาติ มาประดิษฐานรวมกัน ณ ที่นี่ รวมทั้งได้ประทานทรัพย์ให้การทำนุบำรุงมาโดยตลอดพระชนม์ชีพ หลังจาก พระราชชายา เจ้าดารารัศมี สิ้นพระชนม์ ได้มีการแบ่งพระอัฐิของพระองค์มาประดิษฐานไว้ ณ กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ แห่งนี้ (อีกส่วนหนึ่งแบ่งประดิษฐานไว้ใน สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร) ปัจจุบัน กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ แห่งนี้ ได้ถูกจดทะเบียนให้เป็นโบราณสถานสำคัญ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากร ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478

ธรรมาสน์เทศนา

ธรรมาสน์เทศนาแบบล้านนา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2474 และซุ้มประตูวัด จำนวน 3 ซุ้ม เป็นซุ้มประสาทแบบล้านนาขนาดใหญ่ สร้างขึ้นเมื่อครูบาศรีวิชัยบูรณะวัดสวนดอกเมื่อ พ.ศ. 2474

อาคารเสนาสนะในวัดสวนดอก         
๑ .    พระวิหารหลวง      พระวิหารหลวงมีขนาดกว้าง  12 วา 2 ศอก  ยาว  33  วาสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2474  สร้างขึ้นโดยครูบาศรีวิชัยและเจ้าแก้วนวรัฐ  เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ  เป็นวิหารโล่ง ไม่มีผนังแต่มีระเบียงโดยรอบ  หน้าบันทั้ง 2  ด้านมีลายปูนปั้นเครือเถาศิลปะแบบล้านนาที่สวยงาม      พระวิหารหลวงนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษา    เล่มที่  52  ตอนที่  75  ลงวันที่8  มีนาคม  พ.ศ.2478       
๒ .    พระอุโบสถที่ประดิษฐานพระเจ้าเก้าตื้อ    เป็นพระอุโบสถกว้าง  12  เมตรยาว  27  เมตร  สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2047  เป็นอาคารคอนกรีตก่ออิฐถือปูน ซึ่งเป็นศิลปะแบบล้านนาโดยได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุด เมื่อพ.ศ. 2505  ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังโดยจิตรกรรุ่นใหม่เกี่ยวกับพุทธประวัติและเวสสันดรชาดก       
๓ .  หอฉัน  เป็นอาคารชั้นเดียว กว้าง 8 เมตร ยาว 12 เมตรภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับ เรื่องพระเจ้าสิบชาติ  หอฉันนี้สร้างใน ปีพ.ศ.  2519                 
๔.    ศาลาการเปรียญ      เป็นอาคารทรงไทยแบบก่ออิฐถือปูน  สร้างขึ้นเมื่อ ปีพ.ศ.2532  เป็นศาลากว้าง  7  เมตร  ยาว  27  เมตร    สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ พระครูสุคันธศีล  (คำแสน อินทจกโก )         
๕.    อาคารเรียนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยวิทยาเขตเชียงใหม่ (อาคาร1)    เป็นอาคาร3ชั้นกว้าง20เมตรยาว40เมตร สร้างเสร็จเมื่อปีพ.ศ.2536         
๖.    อาคารเรียนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ อาคาร ช้อย  นันทาภิวัฒน์  (อาคาร2)      เป็นอาคาร 4 ชั้น กว้าง 10 เมตร  ยาว 40 เมตรสร้างเสร็จเมื่อพ.ศ.2538         
๗.  อาคารสถาบันวิทยาบริการ( อาคาร ธีระศักดิ์ ไพโรจน์สถาพร)  เป็นอาคารแบบ 3 หลัง สร้างเมื่อปีพ.ศ.2539       
๘.    ศาลาอเนกประสงค์สมโภชนครเชียงใหม่ 700 ปี  เป็นอาคาร  2  ชั้น ขนาดกว้าง 8  เมตร ยาว  30  เมตร    สร้างเมื่อพ.ศ. 2538           
๙.  กุฏิสงฆ์      สร้างขึ้นในบริเวณวัดเพื่อเป็นที่พักของพระสงฆ์มีจำนวนทั้งสิ้น 21 หลังกุฏิสงฆ์  มีลักษณะพิเศษคือ ศาลาฝาไหลซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือ 



วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

ประวัติวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

ตำบลพระสิงห์ เขต 1 อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิด วรมหาวิหาร ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 2 ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ เขต 1 อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

ลักษณะพื้นที่ ของวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมมีถนนล้อมรอบทั้งสี่ด้าน เขตพุทธาวาสอยู่ส่วนกลางของวัด รอบเขตพุทธาวาสเป็นสนามหญ้า ลานคอนกรีต และไม้ยืนต้น และมี อาคารเรียนโรงเรียนธรรมราชศึกษา อาคารเฉลิมพระเกียรติ อาคารพระธรรมสิทธาจารย์ อาคารเรียนพระปริยัติธรรม ศาลาสมเด็จกิตติโสภณ และศาลาสหัส - หงส์ มหาคุณ อนุสรณ์ ตั้งอยู่รอบเขตพุทธาวาส ส่วนเขตสังฆาวาสมีถนนซอยและกุฏิสงฆ์สร้างเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ แบ่งเป็นคณะปกครอง ซึ่งปัจจุบันมีการปกครองทั้งสิ้น 7 คณะ


ประวัติวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร เป็นพระอารามที่พระเจ้าผายูทรงสถาปนาขึ้น เมื่อพุทธศักราช 1888 เดิมเรียกว่าวัดลีเชียง เหตุที่เรียกชื่อนี้เพราะสมัยก่อนนั้นที่หน้าวัดเป็นท้องสนามกว้างเป็นที่ตั้งของตลาดเมือง ประชาชนต่างมาประชุมซื้อขายสินค้ากันภายในบริเวณนี้ คำว่าตลาด เดิมเรียกว่า ลี และคำว่าเมือง เรียกว่า เชียง จึงเป็นเหตุให้เรียกชื่อพระอารามที่พระเจ้าผายูทรงสถาปนาขึ้นนี้ว่าวัดลีเชียงไปด้วย

จากนั้นประมาณ พ.ศ. 1943 เจ้ามหาพรหม ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาจากกำแพงเพชร มีพระประสงค์ที่จะนำไปถวายแด่พระเจ้าแสนเมืองมา และพระเจ้าแสนเมืองมาเมื่อทรงรับแล้วมีพระราชประสงค์ที่จะอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดบุปผาราม (วัดสวนดอก (พระอารามหลวง) ในปัจจุบัน)

ยกฐานะเป็นพระอารามหลวง
มาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี ทรงพระกรุณาโปรดให้ประกาศยกฐานะวัดพระสิงห์ จากวัดราษฎร์ ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 30 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 จึงได้นามเพิ่มในทางราชการว่า วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร
ปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุ
1. พระพุทธสิหิงค์ หรือพระสิงห์ เป็นพระพุทธรูปหล่อสำริดลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 1 เมตร สกุลช่างแบบเชียงแสน สร้างขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 8 หรือประมาณ พ.ศ. 700

2. พระเจ้าทองทิพย์ หรือ พระสิงห์น้อย พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์ที่ 12 แห่งราชวงศ์มังราย โปรดให้สร้างขึ้น พ.ศ. 2020 หน้าตัก 14.5 นิ้ว สูง 21 นิ้ว หนัก 27 กิโลกรัม ฝังอัญมณีมีค่าต่างๆ รอบฐาน

3. พระอุโบสถ มีรูปลักษณะเป็นแบบพิเศษ แตกต่างกับอุโบสถโดยทั่วไป เรียกว่าอุโบสถสองสงฆ์ พระอุโบสถเป็นโบราณสถานเก่าแก่ พระยาแสนเมืองมา กษัตริย์องค์ที่ 10 แห่งราชวงศ์มังรายทรงสร้างไว้ ประมาณ พ.ศ. 1931 - 1954 และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมาตามลำดับ

4. พระวิหารหลวง เป็นสถาปัตยกรรมลานนา ขนาดกว้าง 24 เมตร ยาว 46 เมตร พระวิหารหลวงหลังเดิมชำรุดทรุดโทรมไปจนไม่สามารถที่จะบูรณปฏิสังขรณ์ได้ จนถึง พ.ศ. 2467 - 2468 ท่านครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย ร่วมกับ พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 9 ร่วมกับประชาชนทุกหมู่เหล่า ร่วมกันสร้างขึ้นใหม่แทนหลังเดิม

5. พระวิหารลายคำ เป็นสถาปัตยกรรมลานนาไทย ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 30 เมตร สร้างแต่สมัยราชวงศ์มังราย และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมาตามลำดับ

6. หอพระไตรปิฎก พระเจ้ากาวิละ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 1 โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2354

7. พระมหาเจดีย์ หรือ พระธาตุหลวง สูง 25 วา ฐานสี่เหลี่ยมยาวด้านละ 16 วา 1 ศอก 6 นิ้ว พระเจ้าผายูโปรดให้สร้างขึ้น พ.ศ. 1888 และครูบาศรีวิชัยได้บูรณปฏิสังขรณ์ใน พ.ศ. 2469

8. กู่ลาย ตั้งอยู่หลังพระวิหารลายคำ เป็นเจดีย์ทรงปราสาท มี 5 ยอด มีทางเชื่อมจากผนังด้านหลังพระวิหารลายคำเข้าสู่อุโมงค์ของกู่ลาย เป็นสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมของลานนา

9. กู่อัฐิพระยาคำฟู พระเจ้าผายู พระราชโอรส ได้นำพระอัฐิและพระอังคารมาบรรจุไว้ที่บริเวณนี้ เมื่อ พ.ศ. 1888 และเพื่อไม่ให้เป็นเสียเวลาจึงทรงโปรดสถาปนาพระอารามนี้ขึ้นด้วย

10. พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ หรือพระวิหารพระนอน สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2094 และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาเป็นลำดับ

11. หอพระไตรปิฏกหลังใหม่ ตั้งอยู่ใกล้พระเจดีย์ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ สร้างเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2469 สร้างในสมัยของพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ ผู้บริจาคทรัพย์ในการก่อสร้างคือ หลวงอนุสารสุนทร และนางอนุสาน ชัวย่งเสง

12. ศาลาสมเด็จกิตติโสภณ เป็นอาคารทรงไทย กว้าง 5 วา 2 ศอก ยาว 10 วา 2 ศอก สูง 6 วา สร้าง พ.ศ. 2492 โดยทุนเริ่มต้นจากการถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน โดยการนำของ เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร ป.ธ. 9) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม และศาลาหลังนี้สร้างเป็นอนุสรณ์ของสมเด็จพระสังราช พระองค์นี้ด้วย

13. ศาลาสหัส - หงส์ มหาคุณ อนุสรณ์ เป็นศาลาทรงไทย 2 ชั้น กว้าง 13 เมตร ยาว 38 เมตร สูง 22 เมตร สร้าง พ.ศ. 2513 ด้วยเงินบริจาคของบริษัทสุรามหาคุณ จำกัด

14. อาคารพระธรรมสิทธาจารย์ เป็นอาคารรูปตัวแอล (L) สูง 5 ชั้น กว้าง 11 เมตร ยาว 76 เมตร พระเดชพระคุณ พระธรรมสิทธาจารย์ ร่วมกับคณะศรัทธาประชาชนร่วมกันสร้างเมื่อ พ.ศ. 2539

15. โรงเรียนธรรมราชศึกษา เป็นโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2503 โดยพระเดชพระคุณ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ฟู อตฺตสิโว ป.ธ. 6) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมราชานุวัตร เป็นองค์ผู้ก่อตั้ง ปัจจุบันมีอาคารเรียน 3 หลัง และมีอาคารห้องสมุด 1 หลัง และโรงอาหาร 1 หลัง

ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย

ประวัติย่อครูบาศรีวิชัย พระนักบุญ (ต๋นบุญ) แห่งล้านนาไทย
ครูบาศรีวิชัย
ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปโดยเฉพาะในเขตล้านนาว่าเป็น "ตนบุญ" หรือ "นักบุญ" อันมีความหมายเชิงยกย่องว่าเป็นนักบวชที่มีคุณสมบัติพิเศษ อาจพบว่ามีการเรียกอีกว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัย พระครูบาศรีวิชัย ครูบาศีลธรรม หรือ  ตุ๊เจ้าสิริ (อ่าน"ตุ๊เจ้าสิลิ") แต่พบว่าท่านมักเรียกตนเองเป็น พระชัยยาภิกขุ หรือ พระศรีวิชัยชนะภิกขุ เดิมชื่อเฟือนหรืออินท์เฟือนบ้างก็ว่าอ้ายฟ้าร้อง เนื่องจากในขณะที่ท่านถือกำเนิดนั้นปรากฏฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ส่วนอินท์เฟือนนั้น หมายถึง การเกิดกัมปนาทหวั่นไหวถึงสวรรค์หรือเมืองของพระอินทร์ ท่านเกิดในปีขาล เดือน ๙ เหนือ(เดือน ๗ของภาคกลาง) ขึ้น ๑๑ ค่ำ จ.ศ.๑๒๔๐ เวลาพลบค่ำ ตรงกับวันอังคารที่ ๑๑ เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๒๑ ที่หมู่บ้านชื่อ "บ้านปาง" ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ท่านเป็นบุตรของนายควาย นางอุสา มีพี่น้องทั้งหมด ๕ คน มีชื่อตามลำดับ คือ ๑. นายไหว ๒. นางอวน ๓. นายอินท์เฟือน(ครูบาศรีวิชัย) ๔. นางแว่น ๕. นายทา

ทั้งนี้นายควายบิดาของท่านได้ติดตามผู้เป็นตาคือ หมื่นปราบ (ผาบ) ซึ่งมีอาชีพเป็นหมอคล้องช้างของเจ้าหลวงดาราดิเรกฤทธิ์ไพโรจน์(เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ ๗ ช่วง พ.ศ.๒๔๑๔-๒๔๓๑)ไปตั้งครอบครัวบุกเบิกที่ทำกินอยู่ที่บ้านปาง บ้านเดิมของนายควายอยู่ที่บ้านสันป่ายางหลวง ทางด้านเหนือของตัวเมืองลำพูน


ในสมัยที่ครูบาศรีวิชัยหรือนายอินท์เฟือนยังเป็นเด็กอยู่นั้น หมู่บ้านดังกล่าวยังกันดารมากมีชน กลุ่มน้อยอาศัยอยู่มากโดยเฉพาะชาว ปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) ในช่วงนั้นบ้านปางยังไม่มีวัดประจำหมู่บ้าน จนกระทั่งเมื่อนายอินท์เฟือนมีอายุได้ ๑๗ ปีได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ ครูบาขัติยะ (ชาวบ้านเรียกว่า ครูบาแฅ่งแฅะ เพราะท่านเดินขากะเผลก) เดินธุดงค์จากบ้านป่าซางผ่านมาถึงหมู่บ้านนั้น ชาวบ้านจึงนิมนต์ท่านให้อยู่ประจำที่บ้านปาง แล้วชาวบ้านก็ช่วยกันสร้างกุฏิชั่วคราวให้ท่านจำพรรษา ในช่วงนั้น เด็กชายอินท์เฟือนได้ฝากตัวเป็นศิษย์ และเมื่ออายุได้ ๑๘ ปีก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่ อารามแห่งนี้โดยมีครูบาขัติยะเป็นพระอุปัชฌาย์ ๓ ปีต่อมา (พ.ศ. ๒๔๔๒) เมื่อสามเณรอินท์เฟือนมีอายุย่างเข้า ๒๑ ปี ก็ได้เข้าอุปสมบทในอุโบสถวัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่งจังหวัดลำพูน โดยมีครูบาสมณะวัดบ้านโฮ่งหลวงเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาในการอุปสมบทว่า สิริวิชโยภิกฺขุ มีนามบัญญัติว่า พระศรีวิชัย ซึ่งบางครั้งก็พบว่าเขียนเป็น สรีวิไชย สีวิไช หรือ สรีวิชัย


เมื่ออุปสมบทแล้ว สิริวิชโยภิกขุก็กลับมาจำพรรษาที่อารามบ้านปางอีก ๑ พรรษา จากนั้นได้ไปศึกษากัมมัฏฐานและวิชาอาคมกับครูบาอุปละ วัดดอยแต อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ต่อมาได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของครูบาวัดดอยคำอีกด้วย และอีกท่านหนึ่งที่ถือว่าเป็นครูของครูบาศรีวิชัยคือครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวงซึ่งเป็นพระอุปฌาย์ของท่าน


ครูบาศรีวิชัยรับการศึกษาจากครูบาอุปละวัดดอยแตเป็นเวลา ๑ พรรษาก็กลับมาอยู่ที่อารามบ้านปางจนถึง พ.ศ. ๒๔๔๔ (อายุได้ ๒๔ ปี พรรษาที่ ๔) ครูบาขัติยะได้จาริกออกจากบ้านปางไป(บางท่านว่ามรณภาพ) ครูบาศรีวิชัยจึงรักษาการแทนในตำแหน่งเจ้าอาวาส และเมื่อครบพรรษาที่ ๕ ก็ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง จากนั้นก็ได้ย้ายวัดไปยังสถานที่ที่เห็นว่าเหมาะสม คือบริเวณเนินเขาซึ่งเป็นที่ตั้งวัดบ้านปางในปัจจุบัน เพราะเป็นที่วิเวกและสามารถปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดีโดยได้ให้ชื่อวัดใหม่แห่งนี้ว่า วัดจอมสรีทรายมูลบุญเรือง แต่ชาวบ้านทั่วไปยังนิยมเรียกว่า วัดบ้านปาง ตามชื่อของหมู่บ้าน


ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้มีศีลาจารวัตรที่งดงามและเคร่งครัด โดยที่ท่านงดการเสพ หมาก เมี่ยง บุหรี่ โดยสิ้นเชิง ท่านงดฉันเนื้อสัตว์ตั้งแต่เมื่ออายุได้ ๒๖ ปี และฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ซึ่งมักเป็นผักต้มใส่เกลือกับพริกไทเล็กน้อย บางทีก็ไม่ฉันข้าวทั้ง ๕ เดือน คงฉันเฉพาะลูกไม้หัวมันเท่านั้น นอกจากนี้ท่านยังงดฉันผักตามวันทั้ง ๗ คือ วันอาทิตย์ ไม่ฉันฟักแฟง, วันจันทร์ ไม่ฉันแตงโมและแตงกวา, วันอังคาร ไม่ฉันมะเขือ, วันพุธ ไม่ฉันใบแมงลัก, วันพฤหัสบดี ไม่ฉันกล้วย, วันศุกร์ ไม่ฉันเทา (อ่าน"เตา"-สาหร่ายน้ำจืดคล้ายเส้นผมสีเขียวชนิดหนึ่ง), วันเสาร์ ไม่ฉันบอน นอกจากนี้ผักที่ท่านจะไม่ฉันเลยคือ ผักบุ้ง ผักปลอด ผักเปลว ผักหมากขี้กา ผักจิก และผักเฮือด-ผักฮี้(ใบไม้เลียบอ่อน) โดยท่านให้เหตุผลว่า ถ้าพระภิกษุสามเณรรูปใดงดได้ การบำเพ็ญกัมมัฏฐานจะเจริญก้าวหน้า ผิวพรรณจะเปล่งปลั่ง ธาตุทั้ง ๔ จะเป็นปกติ ถ้าชาวบ้านงดเว้นแล้วจะทำให้การถือคาถาอาคมดีนัก


ครูบาศรีวิชัยมีความปรารถนาที่จะบรรลุธรรมะอันสูงสุดดังปรากฏจากคำอธิษฐานบารมีที่ท่านอธิษฐานไว้ว่า "...ตั้งปรารถนาขอหื้อได้ถึงธรรมะ ยึดเหนี่ยวเอาพระนิพพานสิ่งเดียว..." และมักจะปรากฏความปรารถนาดังกล่าวในตอนท้ายชองคัมภีร์ใบลานที่ท่านสร้างไว้ทุกเรื่อง อีกประการหนึ่งที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักและอยู่ในความทรงจำของชาวล้านนาคือการที่ท่านเป็นผู้นำในการสร้างทางขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพโดยพลังศรัทธาประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ ซึ่งใช้เวลาสร้างเพียง ๕ เดือนเศษ โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ แต่เรื่องที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักกันใน ระยะแรกนั้นเกิดเนื่องจากการที่ท่านต้องอธิกรณ์ ซึ่งระเบียบการปกครองสงฆ์ตามจารีตเดิมของล้านนานั้นให้ความสำคัญแก่ระบบหมวดอุโบสถ หรือ ระบบหัวหมวดวัด มากกว่า และการปกครองก็เป็นไปในระบบพระอุปัชฌาย์อาจารย์กับศิษย์ ซึ่งพระอุปัชฌาย์รูปหนึ่งจะมีวัดขึ้นอยู่ในการดูแลจำนวนหนึ่งเรียกว่าเจ้าหมวดอุโบสถ โดยคัดเลือกจากพระที่มีผู้เคารพนับถือและได้รับการยกย่องว่าเป็น ครูบา ซึ่งหมายถึงพระภิกษุที่ได้รับความยกย่องอย่างสูง ดังนั้นครูบาศรีวิชัยซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในขณะนั้นจึงอยู่ในตำแหน่งหัวหมวดพระอุปัชฌาย์ โดยฐานะเช่นนี้ ครูบาศรีวิชัยจึงมีสิทธิ์ตามจารีตท้องถิ่นที่จะบวชกุลบุตรได้ ทำให้ครูบาศรีวิชัยจึงมีลูกศิษย์จำนวนมาก และลูกศิษย์เหล่านี้ก็ได้เป็นฐานกำลังที่สำคัญของครูบาศรีวิชัยในการดำเนินกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมสาธารณประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นแนวร่วมในการต่อต้านอำนาจจากกรุงเทพฯ เมื่อเกิดกรณีขัดแย้งขึ้นในเวลาต่อมา


ส่วนสงฆ์ในล้านนาเองก็มีแนวปฏิบัติที่หลากหลาย เนื่องจากมีการจำแนกพระสงฆ์ตามจารีตท้องถิ่นออกเป็นถึง ๑๘ นิกาย และในแต่ละนิกายนี้ก็น่าจะหมายถึงกลุ่มพระที่เป็นสายพระอุปัชฌาย์สืบต่อกันมาในแต่ละท้องที่ซึ่งมีอำนาจปกครองในสายของตนโดยผ่านความคิดระบบครูกับศิษย์ และนอกจากนี้นิกายต่าง ๆ นั้นยังเกี่ยวข้องกับชื่อของเชื้อชาติอีกด้วย เช่น นิกายเชียงใหม่ นิกายขึน (เผ่าไทขึน/เขิน) นิกายยอง (จากเมืองยอง) เป็นต้น สำหรับครูบาศรีวิชัยนั้นยึดถือปฏิบัติในแนวของนิกายเชียงใหม่ผสมกับนิกายยองซึ่งมีแนวปฏิบัติบางอย่างต่างจากนิกายอื่น ๆ มีธรรมเนียมที่ยึดถือคือ การนุ่งห่มที่เรียกว่า กุมผ้าแบบรัดอก สวมหมวก แขวนลูกประคำ ถือไม้เท้าและพัด ซึ่งยึดธรรมเนียมมาจากวัดดอยแตโดยอ้างว่า สืบวิธีการนี้มาจากลังกา การที่ครูบาศรีวิชัยถือว่าท่านมีสิทธิ์ที่จะบวชกุลบุตรได้ตามจารีตการถือปฏิบัติมาแต่เดิมนั้น ทำให้ขัดกับพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑(พ.ศ.๒๔๔๖) เพราะในพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า "พระอุปัชฌาย์ที่จะบวชกุลบุตรได้ ต้องได้รับการแต่งตั้งตามระเบียบการปกครองของสงฆ์จากส่วนกลางเท่านั้น" โดยถือเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะแขวงนั้น ๆ เป็นผู้คัดเลือกผู้ที่ควรจะเป็นอุปัชฌาย์ได้ และเมื่อคัดเลือกได้แล้วจึงจะนำชื่อเสนอเจ้าคณะผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯเพื่อดำเนินการแต่งตั้งต่อไป การจัดระเบียบการปกครองใหม่ของกรุงเทพฯนี้ถือเป็นวิธีการสลายจารีตเดิมของสงฆ์ในล้านนาอย่างได้ผล องค์กรสงฆ์ล้านนาก็เริ่มสลายตัวลงที่ละน้อยเพราะอย่างน้อยความขัดแย้งต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นระหว่างสงฆ์ในล้านนาด้วยกันเอง ดังกรณี ความขัดแย้งระหว่างครูบาศรีวิชัยกับพระครูมหารัตนากรเจ้าคณะแขวงลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นต้น


การต้องอธิกรณ์ระยะแรกของครูบาศรีวิชัยนั้นเกิดขึ้นเพราะครูบาศรีวิชัยถือธรรมเนียมปฏิบัติตามจารีตเดิมของล้านนา ส่วนเจ้าคณะแขวงลี้ซึ่งใช้ระเบียบวิธีปฏิบัติของกรุงเทพฯ ซึ่งเห็นว่าครูบาศรีวิชัยทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์โดยไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าคณะแขวงลี้ จึงถือว่าเป็นความผิด เพราะตั้งตนเป็นพระอุปัชฌาย์เองและเป็นพระอุปัชฌาย์เถื่อน ครูบามหารัตนากรเจ้าคณะแขวงลี้กับหนานบุญเติง นายอำเภอลี้ได้เรียกครูบาศรีวิชัยไปสอบสวนเกี่ยวกับปัญหาที่ครูบาศรีวิชัยเป็นพระอุปัชฌาย์บวชกุลบุตรโดยมิได้รับแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติ การจับกุมครูบาศรีวิชัยสามารถแบ่งช่วงเวลาออกเป็น ๓ ช่วงเนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกือบ ๓๐ ปีและแต่ละช่วงจะมีรายละเอียดของสภาพสังคมที่แตกต่างกัน

อธิกรณ์ระยะแรก (ช่วง พ.ศ.๒๔๕๑ - ๒๔๕๓)

การต้องอธิกรณ์ช่วงแรกของครูบาศรีวิชัยเป็นผลมาจากการเริ่มทดลองใช้กฎหมายของคณะสงฆ์ฉบับแรก(พ.ศ.๒๔๔๖)และเป็นการเริ่มให้อำนาจกับสงฆ์สายกลุ่มผู้ปกครองในช่วงพ.ศ.๒๔๕๓ นั้น บทบาทของครูบาศรีวิชัยในหมู่ชาวบ้านและชาวเขามีลักษณะโดดเด่นเกินกว่าตำแหน่งสงฆ์ผู้ปกครอง ดังจะเห็นว่าชาวบ้านมักนำเอาบุตรหลานมาฝากฝังให้ครูบาศรีวิชัยบวชเณรและอุปสมบท เมื่อความทราบถึงเจ้าคณะแขวงและนายอำเภอลี้ ทางการก็เห็นว่าครูบาศรีวิชัยล่วงเกินอำนาจของตน เจ้าคณะแขวงและนายอำเภอได้พาตำรวจควบคุมครูบาศรีวิชัยไปกักไว้ที่วัดเจ้าคณะแขวงลี้ได้ ๔ คืน จากนั้นก็ส่งครูบาศรีวิชัยไปให้พระครูบ้านยู้ เจ้าคณะจังหวัดลำพูนเพื่อรับการไต่สวน ซี่งผลก็ไม่ปรากฏครูบาศรีวิชัยมีความผิด หลังจากถูกไต่สวนครั้งแรกไม่นานนัก ครูบาศรีวิชัยก็ถูกเรียกตัวสอบอีกครั้งโดยพระครู มหาอินทร์ เจ้าคณะแขวงลี้ เนื่องจากมีหมายเรียกให้ครูบาศรีวิชัยนำลูกวัดไปประชุมเพื่อรับทราบระเบียบกฎหมายใหม่จากนายอำเภอและเจ้าคณะแขวงลี้ แต่ครูบาศรีวิชัยไม่ได้ไปตามหมายเรียกนั้น ซึ่งส่งผลทำให้เจ้าอธิการหัววัดที่อยู่ในหมวดอุโบสถของครูบาศรีวิชัยไม่ไปประชุมเช่นกัน เพราะเห็นว่าเจ้าหัวหมวดไม่ไปประชุม ลูกวัดก็ไม่ควรไป พระครูเจ้าคณะแขวงลี้จึงสั่งให้นายสิบตำรวจเมืองลำพูนไปควบคุมครูบาศรีวิชัยส่งให้พระครูญาณมงคลเจ้าคณะจังหวัดลำพูนจัดการไต่สวน ครั้งนั้น ครูบา ศรีวิชัยถูกควบคุมตัวอยู่ที่วัดชัยเมืองลำพูนถึง ๒๓ วัน จึงได้รับการปล่อยตัว


ส่วนครั้งที่๓ ใน พ.ศ.เดียวกันนี้ พระครูเจ้าคณะแขวงลี้ได้สั่งให้ครูบาศรีวิชัยนำเอาลูกวัดเจ้าอธิการหัววัดตำบลบ้านปาง ซึ่งอยู่ในหมวดอุโบสถไปประชุมที่วัดเจ้าคณะแขวงตามพระราชบัญญัติที่จะเพิ่มขึ้น ปรากฏว่าครูบาศรีวิชัยมิได้เข้าประชุมอีก มีผลให้บรรดาหัววัดไม่ไปประชุมเช่นกัน เจ้าคณะแขวงและนายอำเภอลี้จึงมีหนังสือฟ้องถึงพระครูญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดลำพูน ครูบาศรีวิชัยถูกควบคุมไว้ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยเมืองลำพูนนานถึงหนึ่งปี พระครูญาณมงคลจึงได้เรียกประชุมพระครูผู้ใหญ่ในจังหวัดเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งในที่สุดที่ประชุมก็ได้ตัดสินให้ครูบาศรีวิชัยพ้นจากตำแหน่งหัวหมวดวัดหรือหมวดอุโบสถและมิให้เป็นพระอุปัชฌาย์อีกต่อไป พร้อมทั้งถูกควบคุมตัวต่อไปอีกหนึ่งปี

อธิกรณ์ระยะที่สอง (พ.ศ. ๒๔๕๔ - ๒๔๖๔)


อธิกรณ์พระศรีวิชัยครั้งที่สองนี้มีความเข้มข้นและรุนแรงขึ้นเนื่องจากเป็นผลมาจากการต้องอธิกรณ์ครั้งแรกถึง ๓ ครั้ง แต่การต้องอธิกรณ์กลับเป็นการเพิ่มความเลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อครูบาศรีวิชัยมากยิ่งขึ้น เสียงที่เล่าลือเกี่ยวกับครูบาสรีวิชัยจึงขยายออกไป นับตั้งแต่เป็นผู้วิเศษเดินตากฝนไม่เปียกและได้รับดาบสรีกัญไชย(พระขรรค์ชัยศรี)จากพระอินทร์ ความนับถือเลื่อมใสศรัทธาใน ตัวครูบาศรีวิชัยยิ่งแพร่ขยายออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง คำเล่าลือดังกล่าวเมื่อทราบถึงเจ้าคณะแขวงลี้และนายอำเภอแขวงลี้ ทั้งสองจึงได้เข้าแจ้งต่อพระครูญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดลำพูน โดยกล่าวหาว่า "ครูบาศรีวิชัยเกลี้ยกล่อมส้องสุมคนคฤหัสถ์นักบวชเป็นก๊กเป็นเหล่า และใช้ผีและเวทมนต์" พระครูญาณมงคลจึงออกหนังสือลงวันที่ ๑๒มกราคม ๒๔๖๒ สั่งครูบาศรีวิชัยให้ออกไปพ้นเขตจังหวัดลำพูน ภายใน ๑๕ วัน พร้อมทั้งมีหนังสือห้ามพระในจังหวัดลำพูนรับครูบาศรีวิชัยไว้ในวัด เมื่อครูบาศรีวิชัยโต้แย้งและทางการไม่สามารถเอาผิดครูบาศรีวิชัยได้ ความดังกล่าวก็เลิกราไประยะหนึ่ง แต่ต่อมา ก็มีหนังสือของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์เจ้าผู้ครองเมืองนครลำพูน เรียกครูบาศรีวิชัยพร้อมกับลูกวัดเข้าเมืองลำพูน ครั้งนั้นพวกลูกศิษย์ได้จัดขบวนแห่ครูบาศรีวิชัยเข้าสู่เมืองอย่างใหญ่โต การณ์ดังกล่าวคงจะทำให้ทางคณะสงฆ์ผู้ปกครองลำพูนตกใจอยู่มิใช่น้อย ดังจะพบว่าเมื่อครูบาศรีวิชัยพักอยู่ที่วัดมหาวันได้คืนหนึ่ง อุปราชเทศามณฑลพายัพจึงได้สั่งย้ายครูบาศรีวิชัยขึ้นไปยังเชียงใหม่ โดยให้พักกับพระครูเจ้าคณะเมืองเชียงใหม่ที่วัดเชตวัน เสร็จแล้วจึงมอบตัวให้พระครูสุคันธศีล รองเจ้าคณะเมืองเชียงใหม่ ที่วัดป่ากล้วย (ศรีดอนไชย)


ในระหว่างที่ครูบาศรีวิชัยถูกควบคุมอยู่ที่วัดป่ากล้วย ก็ได้มีพ่อค้าใหญ่เข้ามารับเป็นผู้อุปฐากครูบาศรีวิชัยคือหลวงอนุสารสุนทร (ซุ่นฮี้ ชัวย่งเส็ง)และพญาคำ แห่งบ้านประตูท่าแพ ตลอดจนผู้คนทั้งในเชียงใหม่และใกล้เคียงต่างก็เดินทางมานมัสการครูบาศรีวิชัยเป็นจำนวนมาก ทางฝ่ายผู้ดูแลต่างเกรงว่าเรื่องจะลุกลามไปกันใหญ่เนื่องจากแรงศรัทธาของชาวเมืองเหล่านี้ เจ้าคณะเมืองเชียงใหม่และเจ้าคณะมณฑลพายัพจึงส่งครูบาศรีวิชัยไปรับการไต่สวนพิจารณาที่กรุงเทพฯ ซึ่งผลการพิจารณาไม่พบว่าครูบาศรีวิชัยมีความผิด และให้ครูบาศรีวิชัยเลือกเป็นเจ้าอาวาสหรืออาศัยอยู่ในวัดอื่นก็ได้ เมื่อครูบาศรีวิชัยกลับจากกรุงเทพฯแล้ว ชนทุกกลุ่มของล้านนาก็ได้เพิ่มความเคารพยกย่องในตัวครูบา ดังจะเห็นได้จากความสนับสนุนในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ ทั่วไปในล้านนาซึ่งต้องใช้ทั้งเงินและแรงงานอย่างมหาศาล

อธิกรณ์ระยะที่สาม (ช่วง พ.ศ. ๒๔๗๘ - ๒๔๗๙)


การต้องอธิกรณ์ช่วงที่สามของครูบาศรีวิชัยเกิดขึ้นในช่วงที่ได้มีการสร้างถนนขึ้นสู่พระธาตุดอย สุเทพเพราะขณะก่อสร้างทางอยู่นั้นเอง ปรากฏว่ามีพระสงฆ์ในจังหวัดเชียงใหม่รวม ๑๐ แขวง ๕๐ วัด ขอลาออกจากการปกครองคณะสงฆ์ไปขึ้นอยู่ในปกครองของครูบาศรีวิชัยแทน เมื่อเห็นการที่วัดขอแยกตัวไปขึ้นกับครูบาศรีวิชัยเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นนั้น ทางคณะสงฆ์จึงสั่งให้กลุ่มพระสงฆ์ในวัดที่ขอแยกตัวออกดังกล่าวเข้ามอบตัวและพระสงฆ์ที่ครูบาศรีวิชัยเคยบวชให้ก็ถูกสั่งให้สึก อธิกรณ์ครั้งที่ ๓ นี้ได้ดำเนินมาจนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๗๙ ครูบาศรีวิชัยได้ให้คำรับรองต่อคณะสงฆ์ว่าจะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ทุกประการ ท่านจึงได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับลำพูนเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๙ รวมเวลาที่ต้องสอบสวนและอบรมอยู่ที่วัดเบญจมบพิตรเป็นเวลาถึง ๖ เดือน ๑๗ วัน


กรณีความขัดแย้งระหว่างครูบาศรีวิชัยกับคณะสงฆ์ฝ่ายปกครองได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลาเกือบ ๓๐ ปี นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๑ เป็นต้นมา ตราบกระทั่งวาระสุดท้ายในชีวิตของครูบาศรีวิชัย แต่ในช่วงเวลานั้น ครูบาศรีวิชัยก็ยังคงดำเนินการช่วยเหลือประชาชน เป็นที่พึ่งทางใจและดำเนินการบูรณะ ปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ ตลอดจนสาธารณะประโยชน์ตามคำอาราธนาอยู่เรื่อยมา

การปฏิสังขรณ์วัดและปูชนียวัตถุทางพุทธศาสนากับการสร้างสิ่งสาธารณประโยชน์

ครูบาศรีวิชัยได้ชื่อว่าเป็นผู้ถือปฏิบัติเคร่งมาตั้งแต่เป็นสามเณร ดังเห็นว่าท่านเป็นผู้ที่มักน้อย ถือสันโดษ และเว้นอาหารที่มีเนื้อสัตว์เจือปน ตลอดจนงดกระทั่งหมาก เมี่ยง และบุหรี่ ทำให้คนทั่วไปเห็นว่าครูบาเป็นผู้บริสุทธิ์ที่มีลักษณะเป็น"ตนบุญ" คนทั้งปวงต่างก็ประสงค์จะทำบุญกับครูบาเพราะเชื่อว่าการถวายทานกับภิกษุผู้บริสุทธิ์เช่นนั้นจะทำให้ผู้ถวายทานได้รับอานิสงส์มาก เงินที่ประชาชนนำมาทำบุญก็นำไปใช้ในการก่อสร้างสาธารณประโยชน์และบูรณะศาสนสถานและศาสนวัตถุ งานก่อสร้างดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อปี ฉลู พ.ศ.๒๔๔๒ เดือน ๓ แรม ๑ ค่ำ ครูบาได้แจ้งข่าวสารไปยังศรัทธาทั้งหลายรวมทั้งชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ว่าจะวัดบ้านปางขึ้นใหม่ ซึ่งก็สร้างเสร็จภายในเวลาไม่นานนัก ให้ชื่อวัดใหม่นั้นว่า "วัดศรีดอยไชยทรายมูล" ซึ่งคนทั่วไปนิยมเรียกว่า "วัดบ้านปาง"


ขั้นตอนปฏิบัติในการไปบูรณะปฏิสังขรณ์วัดมีว่า เมื่อครูบาได้รับนิมนต์ให้ไปบูรณะปฏิสังขรณ์วัดใดแล้ว ทางวัดเจ้าภาพก็จะสร้างที่พักของครูบากับศิษย์และปลูกปะรำสำหรับเป็นที่พักของผู้ที่มาทำบุญกับครูบา คืนแรกที่ครูบาไปถึงก็จะอธิษฐานจิตดูว่าการก่อสร้างครั้งนั้นจะสำเร็จหรือไม่ ซึ่งมีน้อยครั้งที่จะไม่สำเร็จเช่นการสร้างสะพานศรีวิชัยซึ่งเชื่อมระหว่าง อำเภอหางดง เชียงใหม่ กับอำเภอเมือง ลำพูน จากนั้นครูบาก็จะ "นั่งหนัก" คือเป็นประธานอยู่ประจำในงานนั้น คอยให้พรแก่ศรัทธาที่มาทำบุญโดยไม่สนใจเรื่องเงิน แต่มีคณะกรรมการช่วยกันรวบรวมเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ครูบาไป "นั่งหนัก" ที่ไหน ประชาชนจะหลั่งไหลกันไปทำบุญที่นั่นถึงวันละ ๒๐๐-๓๐๐ ราย คับคั่งจนที่นั้นกลายเป็นตลาดเป็นชุมชนขึ้น เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วก็จะมีงาน "พอยหลวง-ปอยหลวง" คืองานฉลอง บางแห่งมีงานฉลองถึงสิบห้าวัน และในช่วงเวลาดังกล่าวก็มักจะมีคนมาทำบุญกับครูบามากกว่าปกติ เมื่อเสร็จงาน"พอยหลวง-ปอยหลวง" ในที่หนึ่งแล้ว ครูบาและศิษย์ก็จะย้ายไปก่อสร้างที่อื่นตามที่มีผู้มานิมนต์ไว้ โดยที่ท่านจะไม่นำทรัพย์สินอื่นใดจากแหล่งก่อนไปด้วยเลย ช่วงที่ครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ครั้งที่สองและถูกควบคุมไว้ที่วัดศรีดอนชัย เชียงใหม่ เป็นเวลา ๓ เดือนกับ ๘ วันนั้น ผู้คนหลั่งไหลไปทำบุญกับครูบาไม่ต่ำกว่าวันละ ๒๐๐ ราย เมื่อครูบาได้ผ่านการพิจารณาอธิกรณ์ที่กรุงเทพฯ ซึ่งใช้เวลาอีก ๒ เดือนกับ ๔ วันแล้วครูบาก็เดินทางกลับลำพูนเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๓ หลังจากนั้นผู้คนก็มีความศรัทธาในตัวครูบามากขึ้น ครูบาศรีวิชัยเริ่มต้นการบูรณะวัดขณะที่ท่านอายุ ๔๒ ปี โดยเริ่มจากการบูรณะพระเจดีย์บ่อนไก้แจ้ จังหวัดลำปาง ถัดจากนั้นได้บูรณะเจดีย์และวิหารวัดพระธาตุหริภุญชัย ต่อมาได้ไปบูรณะเจดีย์ดอยเกิ้ง ในเขตอำเภอฮอด เชียงใหม่ จากนั้นไปบูรณะวัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา กล่าวกันมาว่าในวันที่ท่านถึงพะเยานั้น มีประชาชนนำเงินมาบริจาคร่วมทำบุญใส่ปีบได้ถึง ๒ ปีบ หลังจากนั้นมาบูรณะวัดพระสิงห์ เชียงใหม่ เป็นอาทิ รวมแล้วพบว่างานบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามของครูบาศรีวิชัยมีประมาณ ๒๐๐ แห่ง


ในขณะที่ครูบาศรีวิชัยกำลังบูรณะวัดสวนดอกเชียงใหม่ใน พ.ศ.๒๔๗๕ อยู่นั้น หลวงศรีประกาศได้หารือกับครูบาศรีวิชัยว่าอยากจะนำไฟฟ้าขึ้นไปใช้บนดอยสุเทพ แต่ครูบาศรีวิชัยว่าหากทำถนนขึ้นไปจะง่ายกว่าและจะได้ไฟฟ้าในภายหลัง ทั้งนี้ทางการเคยคำนวณไว้ในช่วง พ.ศ.๒๔๖๐ ว่าหากสร้างทางขึ้นดอยสุเทพนั้นจะต้องใช้งบประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท แต่ครูบาศรีวิชัยได้เริ่มสร้างทางเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๗ และเปิดให้รถยนต์แล่นได้ในวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๘ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณเลย ครั้นเสร็จงานสร้างถนนแล้ว ครูบาศรีวิชัยก็ถูกนำตัวไปสอบอธิกรณ์ที่กรุงเทพฯอีกเป็นครั้งที่สอง และงานชิ้นสุดท้ายของท่านที่ไม่เสร็จในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ก็คือสะพานศรีวิชัยอนุสรณ์ ทอดข้ามน้ำแม่ปิงเชื่อมอำเภอหางดง เชียงใหม่ กับอำเภอเมืองจังหวัดลำพูน


ในการก่อสร้างต่าง ๆ นับแต่ พ.ศ.๒๔๖๓ ถึง ๒๔๗๑ มีผู้ได้บริจาคเงินทำบุญกับท่าน ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ รูปี คิดเป็นเงินไม่น้อยกว่าสามหมื่นห้าพันบาท รวมค่าก่อสร้างชั่วชีวิตของท่านประมาณสองล้านบาท นอกจากนั้นท่านยังได้สร้างคัมภีร์ต่าง ๆ อีกไม่น้อยกว่า ๓๐๐๐ ผูก คิดค่าจารเป็นเงิน ๔,๓๒๑ รูปี(รูปีละ ๘๐ สตางค์) ทั้งนี้ แม้ครูบาศรีวิชัยจะมีงานก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่และมากมาย แต่บิดามารดาคือนายควายและนางอุสาก็ยังคงอยู่ในกระท่อมอย่างเดิมสืบมาตราบจนสิ้นอายุ


ครูบาศรีวิชัยซึ่งเป็นคนร่างเล็กผอมบางผิวขาว ไม่ใช่คนแข็งแรง แม้ท่านจะไม่ต้องทำงานประเภทใช้แรงงาน แต่การที่ต้องนั่งคอยต้อนรับและให้พรแก่ผู้มาทำบุญกับท่านนั้น ท่านจะต้อง"นั่งหนัก"อยู่ตลอดทั้งวัน ด้วยเหตุนี้ท่านจึงอาพาธด้วยโรคริดสีดวงทวารซึ่งสะสมมาแต่ครั้งการตระเวนก่อสร้างบูรณะวัดในเขตล้านนา และการอาพาธได้กำเริบขณะที่สร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิง ครูบาศรีวิชัยถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๑ ที่วัดบ้านปาง ขณะมีอายุได้ ๖๐ ปี ๙ เดือน ๑๑ วัน และตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปางเป็นเวลา ๑ ปี บางท่านก็ว่า ๓ ปี จากนั้นได้เคลื่อนศพมาตั้งไว้ที่วัดจามเทวี ลำพูน จนถึงวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๙ จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพ เมื่องานพระราชทานเพลิงศพเสร็จสิ้นจึงได้มีการแบ่งอัฐิของท่านไปบรรจุไว้ตามที่ต่าง ๆ เช่น ที่วัดจามเทวีจังหวัดลำพูน วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ วัดพระแก้วดอนเต้า จังหวัดลำปาง วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ และที่วัดบ้านปาง จังหวัดลำพูนอันเป็นวัดดั้งเดิมของท่าน เป็นต้น

วัตถุมงคลของครูบาเจ้าศรีวิชัย


ในยุคที่ครูบาศรีวิชัยยังไม่ถึงแก่มรณภาพนั้น ผู้ที่ทำบุญกับครูบาศรีวิชัยจะได้รับความอิ่มใจที่ได้ทำบุญกับท่านเท่านั้น ส่วนการสร้างวัตถุมงคลนั้น ระยะแรก ลูกศิษย์ที่นับถือครูบาศรีวิชัยได้จัดทำพระเครื่องคล้ายพระรอดหรือพระคงของลำพูน โดยเมื่อครูบาปลงผมในวันโกน ก็จะเก็บเอาเส้นผมนั้นมาผสมกับมุกมีส่วนผสมกับน้ำรักกดลงในแบบพิมพ์ดินเผาแล้วแจกกันไปโดยไม่ต้องเช่าในระหว่างศิษย์ กล่าวกันว่าเพื่อป้องกันภยันตรายต่าง ๆ ซึ่งก็ลือกันว่ามีอิทธิฤทธิ์เป็นที่น่าอัศจรรย์


ส่วนเหรียญโลหะรูปครูบาศรีวิชัยนั้น พระครูวิมลญาณประยุต (สุดใจ วิกสิตฺโต) ชาวจังหวัดอ่างทองได้ร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดลำพูนสร้างขึ้นให้เช่าเพื่อนำเงินมาช่วยในการปลงศพครูบาศรีวิชัย โดยให้เช่าในราคาเหรียญละ ๕ สตางค์ ทั้งนี้ สิงฆะ วรรณสัย ยืนยันจากประสบการณ์ที่ท่านรู้จักครูบาดีและได้คลุกคลีกับเรื่องพระเครื่องมาตั้งแต่ครูบายังไม่มรณภาพนั้นระบุว่าไม่มีเหรียญรุ่นดอยสุเทพ ไม่มีเหรียญที่ครูบาศรีวิชัยสร้าง หรือวัตถุมงคลอื่นใดที่ครูบาจะสร้างขึ้น นอกจากการให้พรและความอิ่มใจในการทำบุญกับท่านเท่านั้น แต่ในระยะหลังก็พบว่ามีการสร้างวัตถุมงคลของครูบาอยู่เป็นจำนวนมาก ในรูปแบบต่างๆ โดยผู้ที่ครอบครองวัตถุมงคลเหล่านั้นมีความศรัทธาในความดีของ "ตนบุญ"เป็นสำคัญ

อุดม รุ่งเรืองศรี

(เรียบเรียงจากงานของ วิลักษณ์ ศรีป่าซาง, ประวัติครูบาศรีวิชัยร่วมกับหลวงศรีประกาศ ตอนสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ ของ ส.สุภาภา ๑๐ พค.๒๕๑๘, สารประวัติครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย ของสิงฆะ วรรณสัย ศูนย์หนังสือเชียงใหม่ พฤศจิกายน ๒๕๒๒, และ ตำนานครูบาศรีวิชัยแบบพิศดารและตำนานวัดสวน-ดอก สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๒๕๓๗)



วัดดอุโมงค์ และ สวนพุทธธรรม

วัดดอุโมงค์ และ สวนพุทธธรรม  สองชื่อนี้เป็นชื่อที่ใช้เรียกสถานที่ส่งเสริมการปฏิบัติธรรม ของพุทธนิคม เชียงใหม่แห่งเดียวกัน แต่มีความหมายต่างกัน

วัดดอุโมงค์(อุโมงค์เถรจันทร์) เป็นชื่อเรียกวัดเก่าที่ "พระเจ้ากือนาธรรมิกราช" ทรงสร้างอุโมงค์ขึ้นเพื่อถวายเพื่อให้พระมหาเถรจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฏกอาศัย

วัดดอุโมงค์นี้หมายเอาเฉพาะบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งมีกำแพงอิฐปรากฏอยู่ทั้งสี่ด้าน ด้านตะวันออกจากขอบสระใหญ่ ด้านเหนือตรงไปทางทิศเหนือโรงพิมพ์ปัจจุบันจรด กำแพงอิฐพอดี ยาวประมาณ 100 วา ด้านเหนือจากแนวกำแพงเหนือโรงพิมพ์ปัจจุบันทางทิศตะวันตก จนถึงขอบสระหลังวัดดอุโมงค์ ยาวประมาณ 100 วา, ด้านตะวันตกจากขอบ สระแนวกำแพงด้านเหนือ ถึงขอบสระใหญ่ใต้พระเจดีย์ ยาวประมาณ 100 วา, ด้านใต้จากขอบสระหลังพระเจดีย์ตรงไปทางตะวันตกออกจรดกำแพงทิศตะวันออกหน้า พระอุโบสถ ยาวประมาณ 100 วา มีพระอุโบสถขนาดย่อมตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีพระเจดีย์ใหญ่แบบลังกาวงศ์ และอุโมงค์(ถ้ำ) 1 อุโมงค์ มีทางเข้า 3 ทาง ตั้งอยู่ตลอดแนววัดด้านตะวันตก และมีศาลาตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากหน้าอุโมงค์ไปประมาณ 1 เส้น คิดเป็นเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 25 ไร่

สวนพุทธธรรม เป็นชื่อใหม่ที่ ภิกขุ ปัญญานันทะ ประธานวัดดอุโมงค์ ในสมัยนั้น (2492-2509) ตั้งขึ้นเรียกสถานที่ป่าผืนใหญ่ที่ปกคลุมวัดร้างโบราณ ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 150 ไร่ ที่พุทธนิคมเชียงใหม่จัดขึ้นเป็นที่อยู่ของภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ผู้แสวงหาความสงบ พื้นที่ซึ่งเรียกว่า สวนพุทธธรรมนี้กว้างมาก รวมเอาวัดไผ่11กอ (เวฬุกัฏฐาราม ซึ่งพระเจ้ามังรายมหาราชทรงสร้างไว้ถวายเป็นที่พำนักของพระมหากัสสปะเถระ ชาวลังกา ซึ่งเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในสมัยนั้น) วัดดอุโมงค์เถรจันทร์ และวัดอื่นๆ (ที่อยู่ใกล้วัดดอุโมงค์ทั้ง 4 ด้าน) อีก 4 วัดเอาไว้ด้วยทั้งหมด

ประวัติวัดดอุโมงค์(สวนพุทธธรรม) มีหลักฐานทางตำนานไม่สู้จะละเอียดนัก ต้องอาศัยหลักการทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่เข้าช่วยจึงได้ความชัดขึ้น แต่ถึงกระนั้นก็ไม่สู้จะมั่นใจว่าประวัติที่นำมาเสนอท่านนี้จะถูกต้องร้อย เปอร์เซ็นต์ เพราะบริเวณที่ถูกเรียกว่า สวนพุทธธรรม นี้มีวัดอยู่หลายวัด สร้างเก่าบ้างใหม่บ้างสับสน ซับซ้อนยิ่งวัดเหล่านี้เป็นวัดกษัตริย์ราชวงศ์มังราย(นับจากพระเจ้ามังราย เป็นต้นมา) ทรงสร้างสืบๆ ต่อกันมาเป็นระยะเวลาเกือบ 700 ปีด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้สันนิษฐานยากขึ้นไปอีก แต่ถึงแม้การศึกษายากเพียงไร หลักฐานที่ค้นได้ และนำมาประกอบการเขียนเรื่องนี้ ทำให้มั่นใจว่าจะทำให้ท่านเข้าใจประวัติวัดดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ได้ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด

ก่อนการศึกษาประวัติวัดดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ความทราบธรรมเนียบการสร้างวัดของพระมหากษัตริย์ไทยสมัยโบราณไว้ด้วยว่า เมื่อทรงสร้างพระราชวัง และเมืองหลวงเสร็จแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องทำเป็นอันดับสองก็คือ วัดสำคัญประจำเมืองทั้งสี่ทิศ หรือสองทิศ(เหนือ ใต้) และวัดพิเศษภายในราชวัง สำหรับเป็นที่สักการะบูชาของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์อีก 1 วัดเสมอ ความจริงเรื่องนี้หาดูได้ตามเมืองหลวงของไทยสมัยโบราณ เช่นเชียงแสน, สุโขทัย, อยุธยา, ลพบุรี, นครศรีธรรมราช, ฯลฯ และกรุงเทพมหานคร อันเป็นเมืองหลวงปัจจุบันการที่พระมหากษัตริย์ไทยสมัยก่อน ถือว่าการสร้างวัดเป็นสิ่งสำคัญอันดับสองรองจากการสร้างวังนั้น แสดงให้เห็นชัดเจนว่า บรรพบุรุษของพวกเรามั่นคงในศีลธรรมมีน้ำใจสูงมาก เห้นความสำคัญของพระพุทธศาสนาแจ่มแจ้งยึดเอาพุทธศาสนาประจำชาติมาตั้งแต่ต้น จนกลายเป็นความรู้สึกฝังใจว่า ชาติไทยกับพุทธศาสนาแยกจากกันไม่ได้มาจนทุกวันนี้

ประวัติศาสตร์บอกไว้ว่า เมื่อ พระเจ้ามังรายมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย ตกลงพระทัยที่จะสร้างเมืองใหม่ที่ป่าเลาคา (ต้นเลาคา และต้นหญ้าคา)ระหว่างแม่น้ำปิงกับดอยสุเทพแล้ว ได้แต่งตั้งราชบุรุษถือพระราชสาส์นไปทูลเชิญพระสหายร่วมน้ำสาบานทั้งสองคือ พระเจ้ารามคำแหงมหาราช เจ้าผู้ครองนครสุโขทัย และพระเจ้างำเมือง เจ้าผู้ครองนครพะเยา มาปรึกษาการสร้างเมืองที่ เวียงเหล็ก (ที่ตั้งวัดเชียงมั่นทุกวันนี้) หลังจากที่สามกษัตริย์ได้ตกลงกันว่า ควรสร้างราชธานีใหม่ กว้าง 800 วา ยาว 1000 วา เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวจากตะวันออกไปสู่ทิศตะวันตกแล้วก็ทำพิธีฝังเสาหลักเมืองใน วันพฤหัสบดี เดือนแปดเหนือ (เดือนหกใต้) ปีวอก พ.ศ. 1839 ฝังหลักเมืองแล้วใช้พลเมือง 5 หมื่นคน ช่วยกันก่อสร้างพระราชเวศน์มณเฑียรสถาน อีก 4 หมื่นคนช่วยกันขุดคูเมือง และกำแพงเมือง ก่อสร้างอยู่เป็นเวลา 4 เดือนก็แล้วเสร็จหลังจากฉลองเมืองใหม่เป็นการใหญ่ 7 วัน 7 คืนแล้ว กษัตริย์ทั้งสามก็พร้อมใจกันตั้งนามเมืองใหม่ว่า”เมืองนพบุรี ศรีนครพิงค์ เชียงใหม่”

หลัง จากสร้างราชธานีเรียบร้อยแล้ว พระเจ้ามังรายมหาราชได้ทรงสร้างวัดสำคัญฝ่ายคามวาสี (วัดสำหรับภิกษุที่ชอบอยู่ในเมือง เพื่อเรียนพุทธวจนะ) ประจำเมืองทั้ง 4 ทิศพร้อมทั้งวัดภายในพระราชวังด้วย และทรงสร้างวัดฝ่ายอรัญวาสี (วัดสำหรับภิกษุที่เรียนพุทธวัจนะแล้ว ออกไปหาความสงบในป่า บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน) บริเวณชานพระนครขึ้นหลายวัด เช่น วัดเก้าถ้าน เป็นต้น

พระเจ้ามังรายมหาราช ทรงทำนุบำรุงพระศาสนา และพระภิกษุสามเณร ทั้งฝ่ายคามวาสี และอรัญวาสีด้วยปัจจัยสี่ ให้มีกำลังใจศึกษา และปฏิบัติพระธรรมวินัยตามความสามารถแห่งตนอย่างดียิ่งทั้งสองฝ่าย กาลต่อมาพระองค์ได้ทรงทราบว่า พระเจ้ารามคำแหงมหาราช พระสหายผู้ครองนครสุโขทัย ได้ส่งคนไปนิมนต์พระสงฆ์จากเมืองลังกา ที่มาอยู่เมืองนครศรีธรรมราช มาสั่งสอนพระพุทธศาสนา ทั้งฝ่ายปริยัติ และฝ่ายปฏิบัติแก่ชาวเมืองสุโขทัยปรากฏเกียรติคุณว่า พระสงฆ์ลังกาแตกฉานพระไตรปิฎกเคร่งครัดในพระธรรมวินัยยิ่งกว่าพระไทยที่มี อยู่เดิม เกิดศรัทธาเสื่อมใส ประสงค์จะได้พระลังกามาเป็นหลักพระพุทธศาสนาในเมืองเชียงใหม่บ้าง จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ขอพระสงฆ์ลังกา จากพระเจ้ารามคำแหงมหาราชมา 5 รูป เมื่อได้พระลังกา 5 รูป อันมีพระมหากัสสปะเถระ เป็นหัวหน้ามาสมพระประสงค์แล้ว เกิดลังเลพระทัยไม่ทราบว่าจะนำพระลังกา 5 รูปนี้ไปอยู่วัดไนดี จะนำไปอยู่กับพระไทยเดิมทั้งฝ่ายคามวาสีก้เกรงว่าพระลังกาจะไม่สบายใจเพราะ ระเบียบประเพณีในการประพฤติอาจจะไม่เหมือนกัน

ในที่สุดได้ตกลงพระทัยสร้างวัดฝ่ายอรัญวาสีเฉพาะพระลังกา ขึ้นวัดหนึ่งต่างหากที่บริเวณป่าไผ่ 11 กอ (สถานที่ซึ่งเรียกว่าวัดดอุโมงค์ สวนพระพุทธธรรมทุกวันนี้) การสร้างวัดไผ่ 11 กอครั้งนั้นพระองค์ประสงค์จะสร้างเป็นอนุสรณ์ในการนำพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ มาประดิษฐานในลานนาไทยเป็นครั้งแรก จึงขอให้พระมหากัสสปะเถระเป็นผู้วางแผนผังวัดให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย และประเพณีอันดีงามของชาวพุทธจริงๆ เมื่อพระมหากัสสปะเถระวางแผนผังวัดออกเป็นเขตพุทธาวาส(สถานที่เกี่ยวกับพระ พุทธเจ้า เช่น พระเจดีย์ พระอุโบสถ) และสังฆาวาส (สถานที่เกี่ยวกับพระสงฆ์ เช่น สาลาแสดงธรรม กุฏิพระโรงฉัน) เรียบร้อยแล้วพระเจ้ามังรายมหาราชได้เป้นผู้อำนวยการสร้างวัดใหม่ตามแผนผัง นั้น โดยยึดเอาแบบอย่างการสร้างวัดของเมืองลังกาเป็นแบบฉบับ แม้พระเจดีย์ใหญ่อันเป็นหลักชัยของวัด ก็สร้างทรวดทรงแบบพระเจดีย์ในเมืองลังกาทั้งหมด (พระเจดีย์ที่พระเจ้ามังรายสร้างอันเดียวกับพระเจดีย์ใหญ่ที่ปรากฏอยู่ในวัด อุโมงค์สวนพุทธธรรมทุกวันนี้ แต่ของเดิมย่อมกว่าที่ใหญ่ขึ้นยังไม่เก่านัก และมองเห็นลวดลายสวยงามชัดเจน เป็นพระเจ้ากือนาธรรมิกราชรัชกาลที่ 9 แงราชวงศ์มังรายทรงบูรณะขึ้นใหม่ด้วยการพอกปูนทับของเก่า พร้อมกับการสร้างอุโมงค์ให้พระมหาเถรจันทร์อยู่ระหว่าง พ.ศ. 1910-1930) สร้างวัดเสร็จเรียบร้อย และทำการฉลองแล้ว ทรงขนานนามว่า วัดเวฬุกัฏฐาราม (วัดไผ่ 11 กอ) จากนั้น ก็นิมนต์คณะสงฆ์จากลังกาเข้าอยู่จำพรรษาเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม และเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป

หลังจากทรงสร้างวัดถวายคณะสงฆ์ลังกาวงศ์แล้วทรงสนพระทัยในการพระศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทรงโปรดให้ความอุปถัมภ์แก่พระสงฆ์ไทย และพระสงฆ์ลังกาด้วยปัจจัยสี่และหมั่นมาฟังธรรมเทศนาจากพระสงฆ์เสมอ การใดที่ทำให้พุทธศาสนาเจริญแล้ว จะทรงกระทำการนั้นทันที

นอกจากจะสนพระทัยพระพุทธศาสนาเป็นการส่วนพระองค์แล้ว ยังทรงแนะนำชักชวนพระบรมวงศานานุวงศ์และประชาชนให้สนใจศึกษาพระพุทธศาสนา โดยพากันมาวัดในวันพระเพื่อให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม เทศนาจากพระสงฆ์และเจริญภาวนาหาความสงบใจอีกด้วย

วัดที่พระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์และประชาชนศรัทธาเลื่อมใส สนใจไปให้ทาน รักษาศีลฟังธรรมเทศนา และเจริญภาวนามากที่สุดในสมัยนั้น คือ วัดเวฬุกัฏฐาราม(วัดไผ่ 11 กอ) ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพระลังกาที่มาจำพรรษาอยู่มีความรู้ในธรรมวินัยดี มีความสามารถในการแสดงธรรมมาก มีความประพฤติเรียบร้อย และเคร่งครัดในระเบียบวินัยมากกว่าพระอื่นๆ ความดีงามของพระลังกาในครั้งนั้นเป้นเหตุให้กุลบุตรสมัครเข้ามาบรรพชา อุปสมบทเป็นภิกษุสามเณรมากมาย ยิ่งนับวันเกียรติคุณของพระลังกาวงศ์ขจรขจายไปทั่วทิศ เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์เจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว และตั้งหลักได้มั่นคงในลานนาไทยเป็นครั้งแรกในสมัยของพระองค์

หลังจากพระเจ้ามังรายมการาชทรงสวรรคต เพราะถูกฟ้าผ่า ที่สี่แยกเมืองเชียงใหม่ เมือพระชนมายุได้ 80 พรรษา (พ.ศ. 1860) แล้ว กิจการพระศาสนาก็เริ่มเสื่อมลงทันที เพราะพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นรัชทายาทครองเมืองเชียงใหม่สมัยต่อมา เช่น พระเจ้าชัยสงคราม (พ.ศ. 1860-1861) พระเจ้าแสนกู่ (พ.ศ.1865-1871) พระเจ้าคำฟู (พ.ศ.1871-1877) ไปประทับอยู่เมืองเชียงราย และเชียงแสนเสียหมดคงตั้งพระโอรสที่เป็นรัชทายาทครองเมืองเชียงใหม่ในฐานะมหาอุปราชเท่านั้นประการหนึ่ง และเพราะมัวแต่รบพุ่งพุ่งชิงชัยแย่งราชบัลลังก์ระหว่างเจ้าพี่ เจ้าน้อง เจ้าลุง เจ้าอา อีกประการหนึ่ง

ครั้นถึงสมัยนั้น พระเจ้าผายู (ประสูติที่เชียงใหม่ เป็นมหาอุปราชแล้วประทับอยู่เชียงใหม่ตลอดเวลา) เป็นกษัตริย์ครองเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 1877 การพระศาสนาจึงค่อยกลับเจริญขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพราะพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมสัมมาปฏิบัติ ยึดหลักพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือในการปกครองประเทศ งานศาสนาชิ้นแรกที่ทรงทำคือ โปรดให้ราชบัณฑิตไปอาราธนาพระมหาอภัยจุฬาเถระ กับพระสงฆ์ 10 รูปจากเมืองหริภุญชัย (ลำพูน) มาเป็นสังฆราชครองวัดลีเชียงพระ (วัดพระสิงห์) ซึ่งทรงสร้างขึ้น การที่พระเจ้าผายูต้องแต่งตั้งพระมหาเถระในจังหวัดลำพูนเป็นพระสงฆ์ในลานนาไทยไม่ได้แต่งตั้งพระมหาเถระในเชียงใหม่นัน แสดงว่าพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ในเชียงใหม่ซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองอย่างมากทั้งสยามวงศ์และลังกาวงศ์ เมื่อ 40 ปีก่อนโน้น เสื่อมลงอย่างน่าใจหาย พระเจ้าผายูทำนุบำรุงประเทศชาติและพระพุทธศาสนาได้ประมาณ 33 ปี ก็สวรรคตในปี พ.ศ. 1910

หลังจากพระเจ้าผายูสวรรคตแล้ว เสนามาตย์ทั้งหลายได้ไปอันเชิญ เจ้าท้าวกือนา จากเมืองเชียงแสน (ที่ต้องไปอยู่เมืองเชียงแสน เพราะพระราชบิดาให้ไปครองเมืองตามธรรมเนียมรัชทายาท) มาราชาภิเษกเป็นกษัตริย์องค์ที่ 9 (ของราชวงศ์มังราย) ครองเมืองเชียงใหม่ต่อไปตามประเพณีในปี พ.ศ. 1910 (เสวยราชย์เมื่อพระชนม์มายุได้ 40 พรรษา) เนื่องจากพระเจ้านากือนาทรงใฝ่พระทัยในการศึกษาวิชาการต่างๆ ทั้งทางโลกและทางธรรมตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ประการหนึ่ง ทรงฝึกหัดวิชาการรบต่างๆ ไว้อย่างชำชิชำนาญประการหนึ่ง ทรงเชี่ยวชาญในการปกครองบ้านเมืองสมัยครองเมืองเชียงแสนประการหนึ่ง ทรงมีน้ำพระทัยตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมเหมือนพระราชบิดาประการหนึ่ง ทรงสนพระทัยในเรื่องพระพุทธศาสนา ตามพระราชบิดาเป็นอย่างมากประการหนึ่ง และทรงมีพระชนม์มายุในขั้นเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวที่ประการหนึ่ง เมื่อเสวยราชย์แล้วจึงทำนุบำรุงบ้านเมืองและพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองได้ อย่างรวดเร็ว

ระยะเวลา 21 ปี (1910-1931) ที่พระเจ้ากือนาธรรมิกราช ครองราชสมบัติ ได้ทรงจัดการปกครองบ้านเมืองอย่างดีเยี่ยมข้าราชการผู้ใหญ่และประชาชนเคารพรักและนับถือพระองค์มาก เจ้าเมืองอื่นไม่กล้ายกกองทัพมารุกรานเพราะรู้ดีว่าพระองค์เป็นนักรบที่เก่งกล้า เมื่อบ้านเมืองปรกติสุขความยุ่งยากไม่มีเช่นนี้ พระองค์ก็ใช้เวลาส่วนมากทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง จนปรากฏว่าพระพุทธศาสนาในวานนาไทยเจริญรุ่งเรืองที่สุดในยุคของพระองค์

งานศาสนาชิ้นแรกที่ทรงทำเมื่อเสวยราชย์ คือ ส่งราชบัรฑิตไปอาราธนาพระมหาสวามีอุทุมพรบุบผา พระมหาเถระชาวรามัญ เชื้อสายลังกาวงศ์ ผู้แตกฉานพระธรรมวินัยที่เมืองเมาะตะมะ (ที่ทรงเจาะจงเลือกพระชาวลังกาวงศ์คงจะเป้นเพราะทรงทราบประวัติความดีงามของพระลัง ที่พระเจ้ามังรายนำมาประดิษฐานพุทธศาสนาในลานนาไทย ระหว่าง พ.ศ. 1839-1860 เป็นแน่) แต่พระมหาสวามีเจ้าไม่ยอมคงมอบศิษย์ 10 รูป มี พระอานนท์ (พระอานนทเถระ) เป็นประธานมาแทน เมื่อพระรามัญเชื้อสายลังกาวงศ์มาถึงแล้วได้ทรงอาราธนาพักที่ วัดโลก (ปัจจุบันเป็นที่ทำการสัตวแพทย์เชียงใหม่) แล้วขอให้ทำพินัยกรรมสมมติสีมาและอุปสมบทกุลบุตร พระรามัญทั้ง 10 รูปไม่อาจปฏิบัติ เพราะการบรรพ๙าอุปสมบทกุลบุตรในประเทศไทยแบบลังกาวงศ์นั้นพระมหาสวามีอุทุมพรบุปผา มอบอำนาจให้พระมหาสุมูนเถระและพระอโนมทัสสีเถระ เป็นผู้กระทำเพียงสองรูปเท่านั้น (พระเถระสุโขทัยสองรูปนี้ ไปเรียนพระไตรปิฎกที่อยุธยาก่อนแล้วกลับไปเรียนต่อที่เมาะตะมะกับมหาสวามีอุทุมพรบุปผาเป็นเวลา 4 ปี จากนั้น ได้กลับมาที่สุโขทัย นำพระที่ฉลาดอีก 10 รูปกลับไปสวดญัติเป็นภิกษุแบบลังกาวงศ์แล้วพระมหาสวามีอุทุมพรบุปผา ได้มอบอำนาจให้พระมาเถระทั้งสองเป้นหัวหน้านำลัทธิลังกาวงศ์มาเผยแผ่ในเมืองไทย)

เมื่อ พระเจ้ากือนาธรรมิกราช ทรงทราบเช่นนั้นแล้วได้ตั้งให้ หมื่นเงินกอง 1 ปะขาวยอด 1 ปะขาวสาย 1 รวม 3 นาย เชิญราชสาส์นและเครื่องบรรณาการการไปถวาย พระมหาธรรมราชาไท กษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์สุโขทัย (ครองราชย์ ระหว่าง พ.ศ. 1890-1919) เพื่ออาราธนาพระมหาสุมนเถระ วัดอัมพวัน (ภายหลังเรียกว่าวัดป่าแก้ว) ไปสืบศาสนาในนครพิงค์ เชียงใหม่ พระมหาธรรมราชาลิไท ทราบแล้วได้ทรงอนุญาตให้พระมาสุมนเถระ ไปสืบสาสนาที่พระนครพิงค์เชียงใหม่ด้วยความยินดี ขณะที่พระมหาสุมนเถระเดินทางจากสุโขทัยมาเชียงใหม่นั้น พระเจ้ากือนาธรรมิกราชได้เสด็จไปคอยรับที่ วัดพระยืน จังหวัดลำพูน ได้ขอให้พระมหาสุมนเถระอุปสมบทกุลบุตรเป็นภิกษุที่นั่นก่อน แล้วจึงอาราธนามาพักที่ วัดบุปผาราม (วัดสวนดอก) เชียงใหม่ เนื่องจากพระมหาสุมนเถระแตกฉานพระไตรปิฏก เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีศีลวัตรน่าเลื่อมใสยิ่งกว่าภิกษุอื่น พระองค์จึงแต่งตั้งให้เป็น มหาสามีบุพรัตนะ เป้นพระประธานสงฆ์ลังกาวงศ์ในลานนาไทยต่อไป ลัทธิลังกาวงศ์ซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองมาครั้งหนึ่งสมัยพระเจ้ามังรายมหาราช และได้เสื่อมทรามไปเกือบ 70 ปีนั้น ได้กลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช

หลังจากทรงจัดการนำพระมหาสุมนเถระชาวสุโขทัย เชื้อสายลังกาวงศ์มาเป็นหลักศาสนาในลานนาไทยแล้ว พระองค์ได้หันไปบูรณะถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนา ซึ่งบรรพบุรุษได้ทรงสร้างไว้โดยทั่วถึง อันใดควรซ่อมก็ซ่อมแซมให้ดีขึ้น อันใดความสร้างใหม่ก็ทรงสร้างด้วยช่างฝีมือชั้นเยี่ยม ถาวรวัตถุที่ทรงบูรณะสร้างไว้ การบูรณะวัดเวฬุกัฎฐาราม ซึ่งพระเจ้ามังรายทรงสร้างไว้ การบูรณะ วัดเวฬุกัฎฐาราม (วัดไผ่ 11 กอ) ทรงสร้างด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง การพอกปูนซ่อมแซมใหม่ทับของเก่า (ถ้าท่านไปดูรอยแตกของพระเจดีย์วัดดอุโมงค์สวนพุทธธรรมในขณะนี้ จะเห็นชัดเจนว่าเปลือกเจดีย์มี 2 ชั้น)ได้ทรงรักษาทรวดทรงเดิมไว้ทั้งหมด ส่วนรูปภาพสีน้ำที่เขียนไว้ในอุโมงค์เจดีย์ที่พระเจ้ากือนาทรงสร้างใหม่ เหลือเกิน

เมื่อทรงบูรณะเจดีย์ใหม่เสร็จแล้ว พระองค์ได้ทรงสร้างอุโมงค์ขนาดใหญ่ ถัดจากฐานพระเจดีย์ด้านเหนือขึ้นหนึ่งอุโมงค์ อุโมงค์ที่ทรงสร้างขึ้นใหม่นี้ทั้งใหญ่และสวยงามมากมีทางเข้าออก 4 ช่อง แต่ละช่องเดินติดต่อกันได้ทั่วถึงข้างฝาผนังด้านในอุโมงค์เจาะช่องสำหรับจุดประทีปให้เกิดความสว่างเป็นระยะ สะดวกแก่พระเดินจงกรม และภาวนาอยู่ข้างใน เพดานอุโมงค์เขียนภาพต่างๆ ด้วยสีน้ำมันไว้ตลอดทั้ง 2 ช่อง ฝีมือที่เขียนดูจะเป็นช่างจีนผสมช่างไทยเมื่อสร้างอุโมงค์เสร็จและทำการฉลองแล้ว ได้ทรงขนานนามว่า วัดดอุโมงค์ ชื่อวัดดอุโมงค์จึงปรากฏมาตั้งแต่ครั้งนั้น

เหตุที่พระเจ้ากือนาธรรมิกราช ทรงสร้างอุโมงค์ใหญ่โตสวยงาม ละเอียดประณีตเป็นพิเศษ เกิดมาจากพระองค์ทรงศรัทธาเป็นพิเศษในพระมหาเถระชาวลานนา ผู้แตกฉานพระไตรปิฏก มีปฏิภาณโต้ตอบปัญหาอยู่เป็นเยี่ยมรูปหนึ่ง พระมหาเถระรูปนั้นมีชื่อว่าพระมหาเถระจันทร์ ตำนานพิสดารเกี่ยวกับพระมหาเถระรูปนี้กล่าวไว้ว่า ในรัชสมัยของพระเจ้ากือนานั้น มีพระเถระรูปหนึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฏก และมคธภาษา อย่างหาตัวจับยากในยุคนั้น พระเถระชาวล้านนารูปนี้ มีนามว่า พระมหาเถระจันทร์ ในตำนานกล่าวต่อไปว่าพระมหาเถระจันทร์นี้ แต่เดิมเป็นเด็กอยู่บ้านเมืองวัว เมื่ออายุได้ 16 ปี ก็ได้ไปขอบรรพชาเป็นสามเณรกับพระเถระวัดไผ่ 11 กอ ต่อมาได้ออกมาอยู่จำพรรษาที่ วัดโพธิ์น้อย ในเวียงเชียงใม่ 3 ปี จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และจำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิ์น้อยอีก 3 พรรษา ในขณะนั้นครูบาเจ้าอาวาสวัดไผ่ 11 กอ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ได้ล้มป่วย มีอาการหนัก พระภิกษุจันทร์ได้ไปเยี่ยมและเฝ้าพยาบาลอาจารย์ ท่านอาจารย์จึงได้มอบคัมภีร์ศาสตร์ประเภทชื่อ มหาโยคีมันตระประเภท ให้ และแนะนำให้เอาไปทำพิธีเล่าเรียนในที่สงัด บอกว่าเมื่อท่องบ่นมนต์นั้นจบแล้ว จะทำให้เป็นผู้มีสติปัญญา เฉลียว ฉลาด เฉียบแหลม สามารถเล่าเรียนและรอบรู้วิทยาการและพระธรรมได้โดยรวดเร็ว

เมื่อได้มอบคัมภีร์นั้นให้แก่ภิกษุจันทร์แล้ว ครูบาผู้เป็นอาจารย์ก็ถึงมรณภาพ หลังจากที่ได้จัดการฌาปนกิจศพพระอาจารย์แล้ว พระภิกษุจันทร์ก็ได้เที่ยวแสวงหาสถานที่ที่สงัด เพื่อจะทำพิธีศึกษาเวทมนตร์จากพระคัมภีร์ที่ท่านอาจารย์มอบให้ พระภิกษุจันทร์ได้ถามชาวบ้านและวานชาวบ้านให้ส่งไปยังสถานที่อันสงัดบนดอยสุเทพ ซึ่งชาวบ้านก็ได้ไปส่ง ณ ศาลาฤาษีสุเทพ ซึ่งอยู่ห่างจากวัดไผ่ 11 กอ ประมาณ 2,000 วา (4 ก.ม.) ครั้นถึงที่นั่นแล้ว พระภิกษุจันทร์ก็บอกชาวบ้านให้กลับ ส่วนตัวท่านเองก็เริ่มทำพิธีท่องมันตระประเภทให้ได้ครบพันคาบ สมจิตตสูตร ห้าร้อยคาบ มหาสมัยสูตรห้าร้อยคาบ ธรรมจักรสูตรห้าร้อยคาบ พอถึงราตรีที่สาม ท่านก็สวดมนต์มหาสมัยสูตรอีกห้าร้อยคาบ พอสวดถึงตอนที่ว่า เขมิยาตุสิตายามา ท่านก็มองเห็นแสงสว่างตรงมาข้างหน้าแสงนั้นเคลื่อนใกล้เข้ามาๆ จนแลเห็นชัด ปรากฏเป็นรูปคล้ายมนุษย์และสวยงามอย่างยิ่งมายืนอยู่ตรงหน้าท่านแล้วถามว่า

ท่านมาทำอะไร และปรารถนาอะไร ? พระภิกษุจันทร์ตอบว่า “เรามาทำศาสตรเภท เพื่ออยากได้สติปัญญาอันเฉียบแหลม เฉลียวฉลาด”

ผู้ประหลาดนั้นจึงถามอีกว่า ท่านจะอยู่ในพรหมจรรย์ตลอดชีวิตหรือ ? หรือว่ายังจะลาสิกขาไปเป็นฆราวาสเมื่อเรียนศาสตรเภทจบแล้ว

พระภิกษุจันทร์ตอบว่า “เราถวายชีวิตของเราแล้วเพื่อพระพุทธศาสนา” ผู้ประหลาดนั้นจึงพูดว่า “เราจะถวายของสิ่งหนึ่งให้แก่ท่าน ท่านจงยื่นมือมารับเอาเถอะ” แล้วก็ส่งของสิ่งหนึ่งให้ (ในตำนานกล่าวว่าสิ่งนั้นเป็นหมากเคี้ยวคือหมากที่ทำเป็นคำๆ) แก่พระภิกษุจันทร์ๆ แลเห็นแขนและมือที่ยื่นส่งของมานั้นสวยงามผุดผ่องและนิ่มนวลก็จับเอาทั้งมือทั้งหมากรูปประหลาดนั้น (เทวดาแปลง) ก็กล่าวเป็นคำคาถาว่า อสติกโรติ “ท่านจงหาสติมิได้เถิด” แล้วก็หายวับไปทันที แต่นั้นมาท่านภิกษุจันทร์ก๊กลายเป็นคนหลงๆ ลืมๆคล้ายกับคนเสียสติ เป็นไปด้วยเดชคำสาปของเทวดาแปลงนั้น เมื่อเห็นว่าถูกทำลายพิธี และตนเองก็กลายเป็นคนสติเผลอไผลไปเช่นนี้ พระภิกษุจันทร์ก็กลับลงมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดโพธิ์น้อยตามเดิม (วัดนี้ไม่ทราบว่าอยู่แห่งใด) เวลามีสติสัมปชัญญะดี สามารถเรียนพระไตรปิฎกได้แม่นยำรวดเร็วมาก เรียนพระวินัยจบในเวลา 1 เดือน เรียนพระสูตรจบในเวลา 1 เดือน เรียนพระอภิธรรมจบภายในเวลา 1 เดือนกับ 15 วัน เมื่อเวลาสติท่านไม่สู้จะปรกติท่านจะเที่ยวจาริกไปในที่สงบสงัด เพื่อบำเพ็ญภาวนาตามลำพัง

ในสมัยนั้น มีพระเถระผู้ทรงคุณวุฒิและรอบรู้ในพระไตรปิฎกอยู่ 6 องค์ด้วยกันคือ พระธัมมะเทโวเถระ พระติกขปัญโญเถระ สององค์นี้จำพรรษาอยู่ ณ วัดสวนดอก พระอาเมทะเถระ พระจักปัญโญคุฑะเถระ เป็นพระเถระชาวพุกาม จำพรรษาอยู่ ณ วัดเสขาน (ไม่ทราบว่าอยู่แห่งใด) พระพุทธติสโสริยะเถระ พระโสมาติสโสริยะเถระ สององค์นี้เป็นพระชาวใต้ (ไทยกลาง) จำพรรษาอยู่ ณ วัดปุยันโต (ไม่ทราบว่าอยู่แห่งใด) พระเถระทั้ง 6 รูปนี้ แม้จะรอบรู้ในพระไตรปิฎกก็จริง แต่ก็สู้ท่านมหาจันทร์ไม่ได้

ใน ครั้งนั้นมักจะมีพระเถระจากต่างเมืองมาถามปัญหาธรรมอยู่เสมอ และทุกครั้งที่มีการถกเถียงปัญหาธรรมที่ลึกซึ้ง ก็ต้องอาศัยพระเถระจันทร์เป็นผู้เฉลยปัญหานั้นให้ด้วยความเชี่ยวชาญ และรอบรู้ของท่านมหาเถระจัทร์นี้เองทำให้พระเจ้ากือนาธรรมิกราชทรงโปรดปราน เป็นอันมาก แต่พระมหาเถระจันทร์ชอบจาริกอยู่ตามป่าดง เพื่อหาที่สงบสงัดบำเพ็ญภาวนาอยู่เป็นนิจ ไม่มีที่อยู่ที่แน่นอน เวลาต้องการตัวโต้ตอบปัญหาหรือศึกษาข้อธรรม มักจะตามไม่ค่อยพบ หรือพบได้ยากมาก พระเจ้ากือนาธรรมิกราชประสงค์จะให้พระมหาจันทร์อยู่เป็นที่ สะดวกต่อการติดต่อและพบปะง่าย จึงโปรดให้สรางอุโมงค์ใหญ่ขึ้นที่ด้านเหนือฐานพระเจดีย์ใหญ่ในวัดเวฬุกัฏฐา ราม สร้างเสร็จแล้วให้เป็นที่อยู่ของพระมหาจันทร์ มหาชนทั้งหลายจึงเรียกกันว่า “วัดดอุโมงค์เถรจันทร์” ตั้งแต่บัดนั้นมาถึงทุกวันนี้ พระมหาจันทร์อยู่จำพรรษาเจริญศรัทธาพระมหากษัตริย์ บรมวงศานุวงศ์ และประชาชน อยู่ที่วัดดอุโมงค์หลายสิบปี ในที่สุดก็มรณะภาพลงด้วยอายุได้ประมาณ 77 ปีนอกจากทรงส่งเสริมการศึกษาพุทธศาสนา

ประวัติเมือง เชียงใหม่

" นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ " หรือจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน เป็นเมืองที่มีเรื่องราวความเป็นมาในอดีตมากมาย ดังในหลักฐานจารึก ปรากฎหลักฐานเริ่มขึ้นในสมัย พญามังรายกษัตริย์องค์ที่ 25 แห่งราชวงศ์ลาว เชื้อสายปู่เจ้า ลาวจก ได้ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์
์ที่เมืองเงินยางเชียงแสนพระองค์ทรงรวบรวมหัวเมืองต่างๆ และได้ทรง

อนุสาวรีย์ สามกษัตริย์
ขยายอำนาจลงไปทางใต้ โดยได้สร้างเมืองเชียงรายขึ้นเป็นศูนย์กลางของการ
รวบรวมเมืองเล็กๆในแถบลุ่มน้ำกก และตั้งแคว้นขึ้น ชื่อว่า แคว้นโยน หรือโยนก จากนั้น
พระองค์ทรงขยายอำนาจเข้าสู่ลุ่มน้ำปิง
เพื่อยึดครองแคว้น หริภูญไชย พระองค์ทรงใช้เวลานานถึง 8 ปี
จึงสามารถตี แคว้นหริภุญไชยได้ต่อมาพระองค์ทรงผนวก
หริภูญไชยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นโยนก กลายมาเป็น อาณาจักรล้านนา ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
ผังเมืองเชียงใหม่ ใน อดีต
ต่อมาในปีพุทธศักราช 1837 พญามังรายได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นทางเหนือ ของแคว้นหริภุญไชย แต่บริเวณดังกล่าวเกิด น้ำท่วมบ่อยครั้ง (เวียงกุมกามในปัจจุบัน)
พระองค์จึงตั้งเมืองแห่งใหม่ และที่เหมาะสมบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงเชิงดอยสุเทพ ซึ่งเป็นบริเวณที่สะดวกในการทำการค้าขาย
ทั้งทางบกและทางน้ำ และยังง่ายต่อการควบคุมหัวเมืองต่างๆ  
ในปี พ.ศ. 1839 พญามังรายได้เชิญพระสหาย คือ พญางำเมือง และ พญาร่วง
( พ่อขุนรามคำแหง)มาหารือเรื่องการวางผังสร้างเมืองและทั้งสามพระองค์
ก็ได้ร่วมสถาปนาเมืองแห่งนี้ว่า
"นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่"


พญามังรายได้พัฒนาทั้งการก่อสร้างวัดวาอาราม มีการตรากฎหมายที่เรียกว่า "มังรายศาสตร์"
รวมถึงรับเอาพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์เข้ามาเผยแพร่ในอาณาจักร
ซึ่งทำให้พระภิกษุในล้านนาสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก สมัยพระเจ้าติโลกราช
กษัตริย์องค์ที่9อาณาจักรของล้านนาได้ขยายออกไปอีกอย่างกว้างขวาง
พร้อมกับได้ผูกสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา
ซึ่งในสมัยพระเจ้าติโลกราชนี้เอง
ที่ได้มีการสังคายนาพระไตรปิฏกขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

อาณาจักรลานนาเริ่มเสื่อมลงในปลายสมัยพญาเมืองแก้ว
เนื่องจากทำสงครามกับเชียงตุงพ่ายแพ้และเสียชีวิตไพร่พล
เป็นอันมาก ประกอบกับอุทกภัย กระทบถึงความมั่นคงของ
อาณาจักรเมืองในการปกครองเริ่มตีตัวออกห่าง ในปี พ.ศ.2101 ในสมัยพระมหาเทวีจิรประภา กษัตริย์องค์ที่ 15
พม่าได้ยกกองทัพมาตีเชียงใหม่ เพียงสามวันก็เสียเมือง
และกลายเป็นเมืองขึ้นของพม่ายาวนานถึง 216 ปี
ชาว ลานนา
ต่อมาในปี พ.ศ.2317 พญาจ่าบ้านและพระเจ้ากาวิละ ได้ร่วมกันต่อต้านพม่า และอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี ยกทัพขับไล่พม่าพ่ายแพ้ไป ต่อมาสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงแต่งตั้ง
พระเจ้ากาวิละขึ้นครองเมืองในฐานะเมืองประเทศราช พระเจ้ากาวิละได้ทรงพื้นฟูเมืองเชียงใหม่ จนมีอาณาเขต
กว้างขวาง การค้าขายรุ่งเรือง ขณะเดียวกันก็จัดส่งบรรณาการ ส่วยสิ่งของและอื่นๆ ให้แก่กรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งยังมีอำนาจในการแต่งตั้งตำแหน่งเจ้าเมืองและขุนนางระดับ
เชียงใหม่ ปัจจุบัน
ล่วงมาถึงสมัยราชการที่5 เมื่ออิทธิพลตะวันตกแผ่เข้ามาในเมืองไทย
มีการปฏิรูปการปกครอง โดยผนวกดินแดนล้านนาเข้ากับมณฑลพายัพ แต่ก็ยังเป็นเมืองประเทศราชในอาณัติราชอาณาจักรสยาม ตรงกับสมัยของ
เจ้าอินทวิชยานนท์ และราชการที่5ได้ทรงขอเจ้าดารารัศมี ธิดาของเจ้าอินทวิชยานนท์ไปเป็นชายา เจ้าดารารัศมีเป็น
ผู้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองอาณาจักรใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น
เมื่อมีการสร้างทางรถไฟขึ้นในเวลาต่อมา ส่งผลให้ตัวเมืองเชียงใหม่
ขยายตัวยิ่งขึ้นและใกล้ชิดกรุงเทพฯ มากขึ้น ในปี พ.ศ.2475
เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มณฑลเทศภิบาลถูกยกเลิก
เชียงใหม่มีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่ง ของประเทศไทย หลังจากนั้น
เชียงใหม่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นจังหวัดใหญ่ที่สำคัญ
รองลงมาจากกรุงเทพฯเท่านั้น

คำว่า รัก

คำว่า “รัก” มีอะไรมากมายซุกซ่อนอยู่ในนั้น อาจจะหวานชื่น ขมขื่น หรืออะไรอื่นอีกหลากหลาย ที่จะทำให้คนรู้จัก “รัก” ได้สัมผัสและรู้สึกถึง…
ความรักเริ่มจากความคิด เพราะความคิดเป็นจุดเริ่มต้นของความรัก บางที.. ความรักอาจทำให้คนเราเปลี่ยนแปลงความคิดไปจากเดิม อาจทำให้คนเราต้องปรับปรุงในสิ่งที่เคยทำ เพียงเพื่อให้เข้ากับใครอีกคน
ความรักทำให้เกิดความเคารพ ศรัทธา คุณจะไม่สามารถรักใครได้ ถ้าไม่รู้สึกเชื่อมั่นเสียก่อน และคนแรกที่คุณต้องศรัทธาเชื่อมั่น ก็คือตัวเอง
ความรักคือการให้ ถ้าคุณต้องการที่จะได้ความรัก สิ่งที่คุณต้องทำก็คือการให้ ยิ่งให้.. คุณก็จะยิ่งได้รับ สูตรลับของความสุข และทำให้มิตรภาพยืนยาวที่คุณควรจะจำเอาไว้เสมอก็คือ อย่าถามว่าคนอื่นให้อะไรคุณบ้าง แต่ให้ถามว่าคุณทำอะไรให้คนอื่นบ้างจะดีกว่า
ในความรักมีมิตรภาพซ่อนอยู่ อยากได้รักแท้ ก็ต้องหาเพื่อนแท้ให้ได้เสียก่อน การจะรักกันได้ไม่ใช่แค่มองตา แต่อยู่ที่ว่า.. ต่างคนต่างมีอะไรที่ตรงกันหรือเปล่า หากจะรักใครอย่างจริงใจ คุณควรจะรักในสิ่งที่เขาเป็น ไม่ใช่แค่ภาพที่คุณเห็น มิตรภาพก็เหมือนกับปุ๋ยที่ช่วยทำให้ความรักเบ่งบานเติบโตทุกๆ วันนั่นเอง
การสัมผัส ช่วยสานต่อความรักให้ดีขึ้น เคยรู้สึกดีใช่มั้ยเวลาที่มีใครโอบไหล่หรือกอดคุณ? การสัมผัส.. จึงเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งที่มีพลัง และช่วยทลายกำแพงแห่งความชิงชังไม่เข้าใจได้อีกด้วย น่าแปลกที่การสัมผัสสามารถเปลี่ยนแปลงอารมณ์ และท่าทีที่แข็งกร้าวให้เบาบางลงได้
อยากรักต้องรู้จักปลดปล่อย ถ้าคุณรักใคร.. จงปล่อยให้เขาเป็นอิสระบ้าง เพราะคุณเองคงรู้สึกอึดอัด ถ้ามีใครมาล่ามโซ่คุณ ดังนั้น.. จงเรียนรู้ที่จะให้อภัยและลืมอดีตที่ไม่ดี เรียนรู้ที่จะปลดปล่อยความกลัวภายในใจ เรียนรู้ที่จะยุติธรรม และลดทิฐิ รวมถึงเงื่อนไขต่างๆ ลงบ้าง ลองบอกตัวเองว่า.. นับแต่นี้ คุณจะทิ้งความกลัวทั้งหมด
แล้วอดีตจะไม่มีผลอะไรต่อตัวคุณได้.. นับจากวันนี้ไป คุณก็จะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่เสียที
ชีวิตจะเปลี่ยนไป เมื่อเราเรียนรู้ที่จะเปิดใจให้กว้างและซื่อสัตย์ต่อกัน รวมถึง.. คุยกับคนรักอย่างเปิดเผย และกล้าที่จะพูดถ้อยคำวิเศษว่า “ฉันรักเธอ” โดยไม่ปล่อยให้โอกาสดีๆ หลุดลอยไป คุณควรจะบอกรักก่อนจากกันทุกครั้งเสมอ เพราะบางที.. นั่นอาจเป็นครั้งสุดท้ายที่คุณจะพบกัน!
แก่นแท้ของความรัก คือการไว้ใจกัน ถ้าคุณไม่เชื่อใจกัน ใครคนหนึ่งจะรู้สึกระแวง กังวล และหวาดหวั่น ขณะที่อีกคนรู้สึกอึดอัดใจ ที่สำคัญ.. คุณไม่อาจรักใครจริงๆ ได้ ถ้าคุณไม่ไว้ใจเขาคนนั้นอย่างแท้จริง

วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2554

จังหวัดที่ 77 บึงกาฬ

[img]http://mail.google.com/mail/?ui=2&ik=9f37565e72&view=att&th=12eff473887d7a66[/img]
จังหวัด บึงกาฬจังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย
จังหวัดบึงกาฬ เป็นจังหวัดที่มีการร้องขอให้จัดตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2537 ตามข้อเสนอของนายสุเมธ พรมพันห่าว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเสรีธรรม จังหวัดหนองคาย โดยแยกพื้นที่อำเภอบึงกาฬ อำเภอปากคาด อำเภอโซ่พิสัย อำเภอพรเจริญ อำเภอเซกา อำเภอบึงโขงหลง อำเภอศรีวิไล และอำเภอบุ่งคล้า ออกจากจังหวัดหนองคายจากการสำรวจความเห็นของประชาชน จำนวน 366,903 คน ปรากฏว่าประชาชนเห็นด้วยกับการจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ ร้อยละ 98.83 หากมีการจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ จะมีประชากรประมาณ 399,233 คน ประกอบด้วย 8 อำเภอ ส่วนจังหวัดหนองคาย จะประกอบด้วย 9 อำเภอ ประชากร 506,343 คนสภาพทั่วไป
บึงกาฬ เป็นอำเภอที่มีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง มีน้ำตก มีภูเขา เป็นอำเภอที่มีเขตพื้นที่ติดต่อกับแม่น้ำโขง และแขวงบริคำไชย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ผลการพิจารณา
เมื่อปี พ.ศ. 2537 กระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งผลการพิจารณาว่ายังไม่มีแผนที่จะยกฐานะอำเภอบึงกาฬขึ้นเป็นจังหวัด เพราะการจัดตั้งจังหวัดใหม่เป็นการเพิ่มภาระด้านงบประมาณ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มกำลังคนภาครัฐซึ่งขัดมติคณะรัฐมนตรี
ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 กระทรวงมหาดไทย ได้นำเรื่องการจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. ...
ต่อมาในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553 คณะรัฐมนตรีก็มีมติให้ทำการจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬขึ้นซึ่งมีผลนับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป จึงนับได้ว่าขณะนี้จังหวัดบึงกาฬได้แยกตัวออกจากจังหวัดหนองคายเป็นจังหวัดที่ 77 ในราชอาณาจักรไทย
อำเภอเมืองบึงกาฬ
อำเภอเมืองบึงกาฬ เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดบึงกาฬ มีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง มีน้ำตก มีภูเขา เป็นอำเภอที่มีเขตพื้นที่ติดกับแม่น้ำโขง และอีกฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขงจะเป็นประเทศเพื่อนบ้าน (ลาว) มีการคมนาคมสะดวก
ประวัติ
เดิมอำเภอบึงกาฬมีชื่อเดิมว่า ไชยบุรีซึ่งขึ้นกับจังหวัดนครพนม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2460 ได้ถูกโอนย้ายให้ขึ้นต่อจังหวัดหนองคาย และถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บึงกาฬ ในปี พ.ศ. 2482
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2537 ได้มีการร้องขอให้จัดตั้งเป็นจังหวัดบึงกาฬ ตามข้อเสนอของนายสุเมธ พรมพันห่าว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเสรีธรรม จังหวัดหนองคาย โดยแยกพื้นที่อำเภอบึงกาฬ อำเภอปากคาด อำเภอโซ่พิสัย อำเภอพรเจริญ อำเภอเซกา อำเภอบึงโขงหลง อำเภอศรีวิไล และอำเภอบุ่งคล้า ออกจากจังหวัดหนองคาย แต่กระทรวงมหาดไทย ยังไม่มีแผนที่จะยกฐานะอำเภอบึงกาฬขึ้นเป็นจังหวัด เพราะการจัดตั้งจังหวัดใหม่เป็นการเพิ่มภาระด้านงบประมาณ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มกำลังคนภาครัฐซึ่งขัดมติคณะรัฐมนตรี
จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2553 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายเทวฤทธิ์ นิกรเทศ ส.ส.ส่วน พรรคกิจสังคมได้ตั้งกระทู้ถามสดต่อนายกรัฐมนตรี เรื่องการจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ และทางกระทรวงมหาดไทยเห็นด้วย กำลังอยู่ในกระบวนการนำเข้าเสนอต่อที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนส่งเรื่องเข้ามาสู่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอเป็นกฎหมายพ.ร.บ.จัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ ต่อไป
ต่อมาในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553 คณะรัฐมนตรีก็มีมติให้ทำการจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬขึ้นซึ่งมีผลนับตั้งแต่นี้ เป็นต้นไป จึงทำให้อำเภอบึงกาฬ ได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอเมืองบึงกาฬ
สถานที่ท่องเที่ยว ภูทอก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว
ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอบึงกาฬ อำเภอบุ่งคล้า อำเภอเซกา และอำเภอบึงโขงหลง มีน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง วัดสว่างอารมณ์ บึงโขงหลง

เชียงใหม่

  -   !  
-!, 7 ! # ) !8 $7 7 !6 (! 9(2- -) 9
"# - ' (F 7 E# 2. $)E !6 - J $ 7
2 (F 7 !6 9 : ( 9 + ),0 , - )K
-)8 - ' '
) )- ! #,)8 /# : 7 (2 :' (2 +
3 : 7 2 (2 + 44 : ,2 )
/#/ 2-)9 8. 2 ><-& A ,   < , # !6 -
,2 ) , -,2 ) (2 +  B , # !6 - 7
01 , (2 +  -< , !78 !6 )8 - -<> <& , ,
# @
) )- ! # 9# ( $ (F -- . J 2 -
6 . J $7 . J 7 . J - . J # , . J J!
. J ) . . J - 2 @- . J ! - . J )
. J L . J M - . J N . J . J #
. J 2 . J . J # # . J ) (O ,
. J # . J - ,# . J ! . J ' (
. J # 6 . J # 2 6 . J - #
: 7 -)G ! , J #
: , -) )- . / 2,
:,2 ) , -) )- #M#
:,2 ) -) )- ! . ( 2 . /
- )6 '( 78 !6) )- ! ## E# (F (O 2 2
2J/ 78 !6(2 + -<> -& , , ! !6 9 /#
, , A LDP # 8. (H J/ / !6 - (2 :' $7
Q- %R / (2 + ->544 , /# , . J
2 #M# # ,) 7 '( :,2 ) , S! , (2 +
<< , (D 9) !0 # -! 18 '( 01 - - %
)9 (F 0 !6 # !6 !6'- )9$ # )8 ) !
- 76 T !6 !$ / ! # # - " # (
->-4& , - ! - -> 45 , - >3&B
, 2, - # !8 ) !08. 20 !6 # 76 T ! -

จุดต่ำสุดคือจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด

จุดต่ำสุดคือจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด


ในยามที่ใครก็ตามต้องประสบกับความผิดหวังอย่างหนัก
ชีวิตเหมือนกำลังดิ่งสู่ก้นเหวลึกเบื้องล่าง..
ไม่รู้ชะตากรรมแม้ในเสี้ยววินาทีถัดไป
ความคิดความรู้สึกในวูบนั้นก็คงไม่แตกต่างกันมากนัก
ความสับสนวกวน..ไม่มีจุดเริ่มต้นและหาจุดสิ้นสุดไม่ได้
ไม่มีคำอธิบายและไร้ซึ่งคำตอบ...
ส่วนในใจมักจะพร่ำถามตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่าว่า
"ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?..."
ความรู้สึกของการไม่มีใครในยามที่ต้องประสบปัญหาร้ายแรง(ที่สุด)ในชีวิต
แม้ใยามยืนอยู่ท่ามกลางฝูงชน...
แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีใครรับรู้ถึงความรู้สึกภายในใจเราแม้แต่คนเดียว
นั่นเองที่ถือว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นของการพบใครบางคน
ที่สำคัญที่สุดในชีวิต..ซึ่งก็คือ "ตัวเราเอง..."
มนุษย์ทุกคนต่างต่อสู้เพื่อการมีชีวิตอยู่ตามสัญชาตญาณ
นอกเสียจากผู้ที่หมดสิ้นแล้วซึ่งความหวัง
และเมื่อถึงจุดๆหนึ่ง เขาอาจจะต้องกลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง
หากคิดให้ดีนี่แหละคือจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของคนเรา
การมองเห็นสัจธรรมที่ว่า...
"เมื่อตอนเกิดมาก็ไม่มีอะไร ตอนตายก็ไม่มีอะไร
หากตอนนี้เราไม่มีอะไรก็ถือว่าเราไม่ได้เสียอะไรไป แค่เท่าทุนเท่านั้น..."
ไม่ใช่ว่าเราจะต้องทิ้งทุกอย่างเพื่อกลับไปสู่จุดเริ่มต้น
แต่ถ้าจะมีใครสักคนที่คิดว่า..
การที่ตัวเองไม่มีอะไรแล้วถือว่าเป็นความโชคร้ายที่สุดในชีวิต
ก็ขอเพียงแต่ให้ลองกลับไปมองในมุมตรงข้ามที่ไม่เคยมองดูบ้าง
อาจจะเจออะไรดีๆ ที่ซ่อนอยู่ก็เป็นได้...
มันเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนที่เคยคิดว่าตัวเองไม่มี
แล้วบังเอิญวันนี้ไม่มีอะไรอีก..
ก็มักคิดว่าตัวเองได้สูญเสียทุกอย่างไปแล้วโดยที่ลืมคิดไปว่า
ไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย..มีเพียงสิ่งเดียวที่ใช่
ซึ่งก็คือความคิดและจิตใจของเราเองเท่านั้น..
ดังนั้น..การได้ลิ้มลองรสชาติของการไม่มีอะไร
นั่นคือจุดเริ่มต้นของการมีทุกสิ่ง..อย่าได้ยึดติดอะไรให้มากนักเลย
ทุกอย่างมีได้มีเสีย..มีขึ้นมีลง มีเข้ามีออก มีทุกข์มีสุข มีบวกมีลบ
เพียงแต่ตอนนี้เรากำลังยืนอยู่บนด้านลบของชีวิต
แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่แสดงว่า..
อีกไม่นานด้านบวกของชีวิตกำลังจะมุ่งตรงมาที่เรา
ทำไมไม่ทำใจให้สบายรอรับมันเสียเล่า ?...